ตัวตนแรงงานข้ามชาติ ใต้เครื่องทรงลิเกพม่า
18422
post-template-default,single,single-post,postid-18422,single-format-standard,bridge-core-2.1.7,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-title-hidden,qode_grid_1300,footer_responsive_adv,qode-child-theme-ver-1.0.0,qode-theme-ver-20.4,qode-theme-bridge,qode_header_in_grid,wpb-js-composer js-comp-ver-6.1,vc_responsive

ตัวตนแรงงานข้ามชาติ ใต้เครื่องทรงลิเกพม่า

เรื่อง : มะลิวัลย์ ปันสุข / ภาพ : สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ 

เพราะความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับภูมิประเทศ ที่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันไม่ยากนัก ทำให้ประเทศไทย เป็น จุดหมายปลายทาง ของแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก จากประเทศเพื่อนบ้าน ดังเห็นได้จากตัวเลขเป็นทางการเมื่อไม่นานนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ระบุไว้ไทย มีแรงงานข้ามชาติ ที่ได้รับอนุญาตเข้ามาทำงานทั่วราชอาณาจักร กว่า 2.5 ล้านคน โดย 91 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานข้ามชาติจาก ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีผลวิจัยจากหลายแหล่ง ระบุตรงกัน การเข้ามาของแรงงานข้ามชาตินั้น ก่อให้เกิดผลกระทบ ทั้งเชิงบวกและเชิงลบหลายด้านต่อประเทศไทย โดยผลกระทบเชิงบวก ที่เห็นชัด คือ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดำเนินไปได้ต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงักจากการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ ผลกระทบเชิงลบ มีอยู่หลายประเด็น เช่น ทำให้แรงงานไทยระดับล่างมีโอกาสทำงานน้อยลง ก่อปัญหาอาชญากรรม สาธารณสุข เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดชุมชนแออัด ทำให้เกิดการกลืนกลายวัฒนธรรมเป็นต้น 

สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติ ในชุมชนสะพานปลาท้ายบ้าน 

ความจริงแล้ว แรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มคนที่มีสถานะเหมือนกัน ฉะนั้นงานซึ่งพยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ สื่อสารกับสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจ และลดอคติทางเชื้อชาติ คุณติ๊ก กนกวรรณ โมรัฐเสถียร ตัวแทนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) เริ่มต้นบทสนทนา น้ำเสียงเรียบ แววตาจริงจัง ก่อนฉายภาพ ชุมชนสะพานปลาท้ายบ้าน อำเภอมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นชุมชนแรงงานข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ทางมพด.เข้ามาทำงาน เป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว ให้คนภายนอกอย่างเรารู้จักมากขึ้นว่าชุมชนสะพานปลาท้ายบ้าน มีแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาจำนวนมาก แบ่งเป็นหลายชาติพันธุ์ มีทั้ง กะเหรี่ยง ไทใหญ่ มอญ กะฉิ่น ฯลฯ 

แต่ละครอบครัว มีอาชีพต่อเนื่องกับงานประมง เป็นชุมชนที่มีเด็กอาศัยอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่ ไม่ได้เรียนหนังสือ และมีปัญหาด้านสุขภาพหลายเรื่อง งานแรกของมพด. ที่เข้ามาทำในชุมชนสะพานปลา จึงเป็นการให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย ต่อมาเป็นเรื่องการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เข้าส่งเสริมสิทธิ รณรงค์ให้ความรู้ว่าสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนของไทยได้ เพราะส่วนหนึ่งต้องการหยุดปัญหาการใช้แรงงานเด็ก

เด็กที่ติดตามพ่อแม่มา ส่วนหนึ่งจะไปเข้าสู่ระบบการเป็นแรงงานเด็ก เริ่มจากช่วยพ่อแม่ คัดแยกปลา แล่ปลา ตัดหัวกุ้ง แต่เด็กควรได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา มพด. เลยเข้ามารณรงค์เรื่องนี้ซึ่งได้ผลพอสมควร คุณติ๊ก เผยให้ฟัง

จาก พื้นที่สร้างสรรค์ สู่ นักสื่อสารสุขภาวะ 

อย่างที่เกริ่นในตอนต้น มพด.นั้น เข้าทำงานในพื้นที่ชุมชนสะพานปลาท้ายบ้าน นานกว่า 12 ปีแล้ว โครงการหลายเรื่อง จึงเกิดขึ้นที่นี่ ล่าสุด คือ การจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ โดยให้ชุมชน มีส่วนร่วมช่วยกันออกแบบ ระดมทรัพยากร กระทั่งปัจจุบัน ชุมชนสะพานปลาทั้งสองฝั่ง มีพื้นที่กลางซึ่งสะอาด ถูกสุขอนามัย ไว้ทำกิจกรรม ใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่เล่นของเด็ก พื้นที่ทำกิจกรรมตามความเชื่อ ศาสนาและวัฒนธรรม ในวาระต่างๆ ซึ่งพื้นที่สร้างสรรค์ นี้เอง ที่เป็น โซ่ข้อกลาง เชื่อมโยงกับการสร้าง นักสื่อสารสุขภาวะ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเมือง

ทั้งนี้ แกนนำในชุมชน ที่เข้ามาเป็น นักสื่อสารสุขภาวะ จะมีทำหน้าที่พัฒนาตัวเอง พัฒนาเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติในชุมชน โดยจะได้รับการอบรมความรู้ในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการฝึกฝนทักษะการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งนำมาสู่การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ หรือที่รวมเรียกว่า การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิตอล (Media Information and Digital Literacy-MIDL) โดยมีสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) ร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

เราติดอาวุธเรื่อง ความรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และสื่อดิจิตอล ให้กับแกนนำและเด็กในชุมชน ให้พวกเขาตระหนัก สื่อดี สื่อไม่ดี เป็นอย่างไร ให้สามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะ สิ่งที่จะเข้ามามีผลกระทบ ต่อชีวิตได้อย่างไร ที่ผ่านมาเคยทำการสำรวจร่วมกันกับชุมชน พบว่าเด็กอยู่กับหน้าจอมือถือ นานถึงวันละ 13 ชั่วโมง ฉะนั้น ความฉลาดในการเลือกเสพสื่อ และรู้เท่าทัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นอันดับต้นๆ คุณติ๊ก เผยข้อมูล 

หลังจากนั้น จึงทยอยมีกิจกรรมขับเคลื่อนชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น โครงการพี่สอนน้อง ซึ่งไม่ใช่แค่การสอนเสริมเรื่องการเรียน แต่เป็นการเสริมทักษะชีวิต การดูแลความสะอาดสุขอนามัยส่วนตน นับตั้งแต่ การแปรงฟัน การกินอาหาร การทำหน้าบ้านของตัวเองให้น่าอยู่ และการทำห้องนอนของตัวเองให้น่ามอง

โครงการชุมชนสะอาด ดำเนินงานโดยอาสาสมัคร ซึ่งเป็นผู้ปกครองในชุมชนทั้งหญิง-ชาย มาร่วมกันปรับทัศนียภาพทำให้ชุมชนสะอาด โดยทุกวันเสาร์ ทุกคนจะวางมือจากงานต่างๆ มาเก็บกวาด จากสภาพเมื่อก่อน มีขยะเน่าเหม็นและน้ำท่วมขัง แต่ปัจจุบันเป็นชุมชนน่าอยู่ขึ้น เป็นต้น

อคติ เหลื่อมล้ำ ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครทั้งนั้นอคติ เหลื่อมล้ำ 

พูดคุยกันมาถึงตรงนี้ คุณติ๊ก จาก มพด. ภูมิใจแนะนำให้เรารู้จักกับ ชาลี ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติ ชุมชนสะพานปลาท้ายบ้าน ในฐานะ นักสื่อสารสุขภาวะ คนสำคัญ ทำหน้าที่เผยแพร่จุดยืนทางวัฒนธรรมประจำชาติของพวกเขา 

ชาลี เป็นนักแสดงลิเกพม่า เขาคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้นำการละเล่นทางวัฒนธรรม มาเผยแพร่ในชุมชน ซึ่งมี เพื่อนๆ พี่-น้อง ชาวเมียนมาอาศัยอยู่ร่วมกัน และไม่ว่าเขาจะไปแสดงที่ไหน สามารถดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างมาก

คุณติ๊ก อธิบายที่มา ก่อนบอกว่า การแสดงลิเกพม่าของชาลี นั้น เปรียบเสมือน เครื่องมือ สำคัญ ที่มุ่งหวังให้สังคมลดอคติและความเหลื่อมล้ำ 

คุณติ๊ก กนกวรรณ โมรัฐเสถียร ตัวแทนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) 

ลิเกพม่า เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นจุดยืนทางวัฒนธรรม ของแรงงานข้ามชาติในชุมชนสะพานปลาท้ายบ้าน แม้พวกเขาจะอยู่ต่างที่ต่างถิ่น แต่ความผูกพันกับวิถีวัฒนธรรมที่มี ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ประเทศใด พวกเขาย่อมมีวัฒนธรรมของตัวเอง มีการแสดงของตัวเอง

คุณติ๊ก ส่งข้อความสื่อสารแทนความรู้สึกจากใจลึกๆ ของเพื่อนบ้านที่ดั้นด้นมาขายแรงงานในบ้านเรา ก่อนบอกด้วยว่า ลิเกพม่า ยังเป็นเหมือนเครื่องมือที่นำมาใช้เป็นจุดดึงให้ผู้คนมาสนใจ และชวนพูดคุยกัน ในประเด็นที่ว่า ประเทศไทยมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร พวกเขาไม่ได้เข้ามาเป็นผู้ร้าย แต่เมื่อเข้ามาแล้ว จะทำให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในบ้านเมืองเราได้อย่างไร 

ในฐานะเป็นคนกลางทำงานเชื่อมโยงระหว่าง เด็กๆ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติกับสังคมภายนอก มีอะไรอยากจะบอกบ้าง คุณติ๊ก นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนเผยความรู้สึก เรื่องสิทธิความเท่าเทียม ความเลื่อมล้ำ อะไรก็แล้วแต่ ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครเลย อยากให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสุขภาพอนามัย เรื่องการศึกษา 

ชาลี ฝึกฝนให้น้องๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนสะพานปลาท้ายบ้าน 
จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ รู้จักการเต้นรำแบบลิเกพม่า 

และอยากให้สังคมเข้าใจ ว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาบ้านเรานั้น เขามาช่วยอย่างไร และพวกเขาสามารถเป็นพลเมืองที่ดีในชุมชนของเราได้ ฉะนั้น การให้โอกาสหรือช่วยกันพัฒนาพื้นที่ หรือพัฒนาตัวเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นการทำให้บ้านเราเองน่าอยู่ น่ามอง เป็นการขับเคลื่อนสังคม และชุมชนที่ดีร่วมกัน

ไม่อยากให้มองแบบ แบ่งเขา แบ่งเรา อยากให้มองว่า เราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน คุณติ๊ก ฝากไว้แค่นั้น 

อ่านและดาวน์โหลดฉบับเต็ม

No Comments

Post A Comment