อยากเห็น “เมือง” สร้างด้วยใจ อยากได้แค่…ความเท่าเทียม
18405
post-template-default,single,single-post,postid-18405,single-format-standard,bridge-core-2.1.7,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-title-hidden,qode_grid_1300,footer_responsive_adv,qode-child-theme-ver-1.0.0,qode-theme-ver-20.4,qode-theme-bridge,qode_header_in_grid,wpb-js-composer js-comp-ver-6.1,vc_responsive

อยากเห็น “เมือง” สร้างด้วยใจ อยากได้แค่…ความเท่าเทียม

เรื่อง : มะลิวัลย์ ปันสุข / ภาพ : สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ 

เมืองแห่งความเท่าเทียม นับรวมทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น วรรณะ ซึ่งไม่ได้หมายถึง ทาส หรือ เจ้านาย แต่หมายถึง อัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล เช่น คนพิการ คนชรา คนท้อง จะเป็นเมืองน่าอยู่ ถ้าคนที่มีความหลากหลาย สามารถอยู่ใช้งาน และสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้โดยปราศจากการครอบงำทั้งปวง


สุริยา แสงแก้วฝั้น นักเรียกร้องสิทธิเพื่อผู้พิการ

ใจสร้างเมือง คือ ความพยายามของกลุ่มคนเล็กๆ ที่ต้องการสื่อสารว่าด้วยเรื่องของความเสมอภาคเท่าเทียม สิทธิ และโอกาสของผู้พิการในสังคม โดยมีสถาบันการศึกษาระดับชาติอย่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นฉากสำคัญ 

โครงการใจสร้างเมือง มีเยาวชนเป็นฐาน เพราะเชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมืองค่อนข้างมาก ทั้งปัจจุบันและอนาคต ผศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. ในฐานะเจ้าของโครงการ บอกถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิด

สุริยา แสงแก้วฝั้น นักเรียกร้องสิทธิเพื่อผู้พิการ กับพาหนะคู่กาย

ส่วนกลุ่มเยาวชนกลุ่มเป้าหมายของโครงการนั้น ผศ.ดร.ไพลิน บอก เบื้องต้นตั้งไว้ที่กลุ่มเด็กในเขตเมือง กลุ่มเด็กพิการ และกลุ่มนักศึกษามช. แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลาและขอบเขตการทำงาน ในปีแรกของการดำเนินโครงการ จึงโฟกัสไปที่กลุ่มเด็กพิการในมช. เป็นจุดเริ่มต้น 

เด็กพิการ มีความเป็นมนุษย์ แต่มีข้อจำกัดทางสรีระร่างกาย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่การใช้ประโยชน์ของเมืองได้เหมือนเด็กทั่วไป และเชื่อว่ายังมีเด็กอีกหลายกลุ่ม อย่าง เด็กชาติพันธุ์ เด็กในชุมชนแออัด หรือ เด็กจากพื้นที่ราบสูง อีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ค่อยได้รับโอกาส หรือได้รับการเหมารวม เข้ามาสู่การใช้พื้นที่ของเมืองอย่างเต็มที่ ผศ.ดร.ไพลิน อธิบาย 

อย่างไรตาม การจะทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ มี แว่นใหม่ ใส่มองไปที่กลุ่มเด็กพิการในสังคม และมอบโอกาสให้พวกเขา ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม ทั้งสิทธิและโอกาสนั้น เครื่องมือ อันหลากหลาย ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่สื่อในการสร้าง Change Agent หรือกุญแจของการเปลี่ยนแปลง นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

สำหรับ โครงการใจสร้างเมือง เอง ได้เลือกเอา หนังสั้น มาใช้ เป็นหนึ่งในอาวุธประสิทธิภาพสูง โดยมี อาจารย์เอื้อย ผศ.ดร.ชนินทร เพ็ญสูตร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. รับผิดชอบเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง

อาจารย์เอื้อย – ผศ.ดร.ชนินทร เพ็ญสูตร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ  คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช.

สอนรัฐศาสตร์ ความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ การทำหนัง การตัดต่อ จึงเท่ากับศูนย์ แต่มีความชอบเป็นทุนอยู่บ้าง ประกอบกับได้ทีมซึ่งเป็นนักศึกษาจากสาขาสื่อสารมวลชน เลยทำให้ผลิตงานออกมาได้ อาจารย์เอื้อย ออกตัว อย่างนั้น ก่อนเล่าให้ฟัง ถึงที่มาที่ไป ของ ABOUT US (อะเบาท์ อัส) หนังสั้นที่ว่ากันว่า สร้างแรงกระเพื่อมได้หนักหน่วง ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือสร้าง 

มีคลาสที่สอนนักศึกษาปีหนึ่ง ชื่อวิชา การเป็นพลเมือง หรือ Citizen Shift เป็นคลาสที่ฟังดูน่าเบื่อ เลยพยายามหากิจกรรมให้นักศึกษาทำ โดยให้ไปถ่ายรูปในมหาวิทยาลัยมา 3 รูป ที่คิดว่าเห็นแล้วไม่โอเค แทบทุกคนจะไปถ่ายภาพเกี่ยวกับปัญหารอบตัว เช่น ถังขยะล้นบ้าง ห้องน้ำสกปรกบ้าง แต่มีอยู่หนึ่งคน ซึ่งถ่ายรูปแตกต่างออกไป 

อาจารย์เอื้อย ย้อนความทรงจำ และบอกให้ฟังต่อ นักศึกษาคนดังกล่าว ถ่ายรูปทางลาดที่จะไปสู่ห้องสมุด แต่ทางลาดกลับมีไม้มากั้นเหมือนไม่ให้รถจักรยานยนต์ข้าม แต่รู้หรือไม่ว่าไม้กั้นนั้น ส่งผลให้เพื่อนของเขาเป็นนักศึกษาผู้พิการ ซึ่งนั่งวีลแชร์ ข้ามไปไม่ได้ และมีรูปเป็นทางลาดชันขึ้นตึก เหมือนจะดูดี แต่ชันเกินไป เพื่อนของเขาเข็นวีลแชร์ขึ้นไปไม่ได้ และรูปฟุตบาธ ซึ่งควรจะเข็นวีลแชร์ไปได้ แต่มีมอเตอร์ไซค์จอดเกะกะไปหมด 

ผศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. (ขวา) แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับ สุริยา แสงแก้วฝั้น นักเรียกร้องสิทธิเพื่อผู้พิการ

สำหรับนักศึกษาคนดังกล่าวที่ได้รับรางวัลในครั้งนั้นชื่อ ดิว ซึ่งเปรียบเสมือนคนจุดประกาย ให้เกิดหนังสั้นเรื่อง ABOUT US ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของเขา และเพื่อนผู้พิการในมช. อีกหลายชีวิต

อยากให้รางวัลนักศึกษาคนนี้ จำได้ว่าวันนั้นสอนที่ชั้น 3 บนตึกของคณะ เอ้า ! นักศึกษาคนไหนถ่ายรูปพวกนี้ มารับรางวัลจากอาจารย์ และความที่ห้องมันใหญ่ รู้สึกว่าทำไมเขาลุกขึ้นมาช้าจังเลย เลยเร่งให้ลุกมาเร็วๆ หน่อย จะได้สอนเรื่องอื่นต่อ สุดท้ายมารู้ว่าการที่เขาลุกขึ้นมาช้าเพราะเขาพิการทางขา เรารู้สึกผิดเลย คือ ไม่ทันคิดว่าเขาพิการ เพราะเห็นแค่ครึ่งตัว พอลุกขึ้นปุ๊บ ทั้งคลาส เกิดสภาวะเดดแอร์ ตัวเราเองก็เงียบ เพราะละอายที่ไม่รู้จักลูกศิษย์มาก่อน

อาจารย์เอื้อย เล่าก่อนยิ้มเขินๆ 

หนังสั้น สร้าง Impact ทั้งบวก ทั้งลบ

หลังจากหนังสั้นเรื่อง ABOUT US ผลิตออกมาเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทางผู้รับผิดชอบโครงการใจสร้างเมือง ต่างพากัน นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวาระต่างๆ เช่น ส่งไปฉายตามเทศกาลหนังสั้น หรือ ฉายในการประชุมวิชาการนานาชาติ แต่การนำไปขยายผลที่น่าจะสร้าง แรงกระแทก ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด เห็นจะเป็นการกำหนดให้ เฟรชชี่ มช. ทั้งหลักสูตรไทยและอินเตอร์ทุกคน หลังจากหนังสั้นเรื่อง ABOUT US ผลิตออกมาเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทางผู้รับผิดชอบโครงการใจสร้างเมือง ต่างพากัน นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวาระต่างๆ เช่น ส่งไปฉายตามเทศกาลหนังสั้น หรือ ฉายในการประชุมวิชาการนานาชาติ แต่การนำไปขยายผลที่น่าจะสร้าง แรงกระแทก ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด เห็นจะเป็นการกำหนดให้ ที่ต้องได้ดูหนังสั้นเรื่องนี้ 

ซึ่งที่ผ่านมา มีเด็กมช.เกือบ 2 หมื่นคน ได้รับประสบการณ์ตรงจากหนังสั้น ที่บอกเล่าการใช้ชีวิตของนักศึกษาพิการในรั้วมหาวิทยาลัยของพวกเขาเอง

ผลตอบรับหลังจากที่นักศึกษาของเราได้ดูหนังสั้นเรื่องนี้แล้ว มีทั้งบวก ทั้งลบ ซึ่งเป็นสิ่งที่คิดไม่ถึงเหมือนกัน อาจารย์เอื้อย ย้อนเรื่องราว แววตาเป็นประกาย ก่อนขยายความให้ฟังต่อ ABOUT US เป็นเรื่องของสิทธิผู้พิการในมช. พูดถึงปัญหาซึ่งปรากฏอยู่อย่างเห็นได้ชัด เช่น ห้องน้ำในมหาวิทยาลัยนั่งรถเข็นไปถึงแล้วประตูล็อก หรือต่อให้เปิดก็มีของใช้วางเต็มไปหมด ซึ่งโดยส่วนตัว ไม่รู้สึกว่าเป็นประเด็นใหม่อะไร เพียงแค่มีการนำมาฉายภาพให้คนทั่วไปได้มีโอกาสรับรู้มากขึ้นเท่านั้น 

แต่ปรากฏว่ามีนักศึกษาหลายคน ดูแล้วร้องไห้ เกิดความรู้สึกหดหู่ แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้สึก อิน ถึงขั้นฮึกเหิมเลยทีเดียว

มีนักศึกษาต่างชาติคนหนึ่งส่งข้อความมาหา บอกจะออกเงินค่าก่อสร้างทางลาดให้เพื่อนผู้พิการในมช. ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ให้บอกมา เลยต้องอธิบาย ถ้าจะทำอะไรแบบนั้นได้ คงต้องมีขั้นตอนบางอย่าง ไม่ใช่อยากทำก็ทำได้เลย อาจารย์เอื้อย เล่า ก่อนหัวเราะเบาๆ ในลำคอ

นอกจากนี้ ตอนที่นำหนังสั้นมาฉายที่คณะ โดยมีผู้ชมเป็นนักเรียนมัธยมฯ ปลาย จากหลายโรงเรียน ซึ่งก่อนหน้าที่หนังจะฉาย เอิง นศ.พิการหนึ่งในผู้ถ่ายทอดเรื่องราว เข็นรถเข้ามา ยังไม่ค่อยมีใครหลบให้ เหมือนเขาไม่ได้ถูกมอง แต่พอหนังฉายจบ มีการเปลี่ยนแปลงในมุมของผู้ชมคือ หลังจากนั้น เอิง จะเข็นรถไปทางไหน ทุกคนจะหลบให้ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไป พร้อมกับการตั้งคำถาม ถึงคำว่า เมืองสำหรับทุกคน อาจารย์เอื้อย ถ่ายทอดปรากฎการณ์น่าประทับใจในครั้งนั้น

ใครก็ได้ช่วยรับฟัง และนำไปคิดต่อ

อย่างที่เกริ่นถึงไว้เมื่อช่วงต้น สำหรับแรงบันดาลใจของหนังสั้น ABOUT US ที่มาจาก ดิว จักรพงษ์ มีสัตย์ใจ ซึ่งเป็นผู้พิการกล้ามเนื้อซีกซ้ายอ่อนแรง โดยช่วงที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกัน เขากำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. 

เมื่อถามสำเร็จการศึกษาแล้วอยากทำงานอะไร ดิว บอก ตั้งใจจะสอบก.พ. เพราะอยากเป็นข้าราชการ ในอนาคตอันใกล้ ต้องออกไปใช้ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว อยากส่งเสียงบอกใคร อย่างไร บ้างมั้ย คำถามนี้ ดิว ตอบจริงจังว่า การออกแบบเมือง อยากให้มองภาพรวม ไม่จำเป็นที่ต้องเป็นเฉพาะกลุ่มผู้พิการ แต่อาจเป็นในส่วนของผู้สูงอายุ หรือไม่ก็เด็กด้วย 

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น รถขนส่งสาธารณะ มีระบบ AI ส่งเสียง ตอนนี้แล่นถึงจุดไหนแล้ว หลายแห่งยังไม่มี หรือ ห้องเรียน มีอักษรเบลล์ด้วย เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุน อาจไม่ต้องดีที่สุด แต่อยากให้เพื่อนๆ ทุกประเภทไม่ใช่เฉพาะพิการด้านร่างกาย ได้รับโอกาสให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ 

สิ่งเหล่านี้คิดว่าต้องใช้เวลา แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นอยู่ที่ Mind Set ของแต่ละคนด้วย อย่างห้องน้ำสำหรับคนพิการ ที่ เอิง เล่าไว้ในหนังสั้น เห็นได้บ่อยเลยว่ามีไว้เป็นที่เก็บของ หรือไม่ก็ที่จอดรถคนพิการ คนปกติก็ไปจอดสิ่งเหล่านี้บางทีสร้างขึ้นมาโดยไม่คำนึงถึงผู้ใช้จริงๆ สักแต่ว่ามีไว้ให้คนพิการ แต่ไม่เอื้อต่อการใช้จริง ถามว่าเคยน้อยใจบ้างมั้ย คับข้องใจบ้างมั้ย ยอมรับว่ามีบ้าง เวลาเข็น เอิง ไปไหนมาไหน หลายครั้งต้องขอให้คนอื่นช่วยยกสิ่งกีดขวางออก หลายอย่างไม่เอื้อต่อเราเลย ทั้งที่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ ดิว เล่าน้ำเสียงจริงจัง

รถรับส่งนศ.มช. ที่มีบริการสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ด้วย

ส่วน เอิง ปิยฉัตร สลีวงศ์ นักศึกษาสาวผู้พิการอัมพาตท่อนล่าง เนื่องจากประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ทำให้ต้องใช้วีลแชร์ตลอดชีวิต เอิง เป็น บั๊ดดี้ กับดิว เพราะเรียนอยู่ชั้นปีและคณะเดียวกัน เวลาไปไหนมาไหน เอิง มักมี ดิว มาช่วยเข็นวีลแชร์ให้เป็นประจำ และเอิง คือ แรงบันดาลใจของดิว ในการส่งภาพในวิชาการเป็นพลเมือง จนได้รับรางวัลจากอาจารย์เอื้อย 

เมืองทุกวันนี้ เหมือนยังไม่นับรวมคนพิการเข้าไปในทุกอย่าง ยิ่งถ้ามองภาพรวมของประเทศ เห็นได้ชัดเลยอย่าง ขนส่งสาธารณะก็ไม่เอื้อ รถโดยสารส่วนใหญ่ พวกหนูขึ้นไม่ได้ ถ้าจะขึ้นได้ ต้องมีคนช่วยเหลือ โดยเฉพาะวีลแชร์ ลำบากมาก หรืออย่างพวกถนน ทางลาด ซึ่งจำเป็น ก็ไม่เหมาะสมต่อการที่วีลแชร์จะไปวิ่งเลย หนูรู้สึกว่าเขาไม่ได้แก้ไขอะไร ทั้งที่มีคนพยายามออกมาสะท้อนกันมากมายแล้ว แต่ยังนิ่งเฉยอยู่ เอิง เผยความรู้สึก ก่อนขอฝากไปถึงใครก็ได้ ที่อยากรับฟังและนำไปช่วยกันคิดต่อ

ไม่ว่าจะทำอะไรออกมา อยากให้คิดถึงคนพิการว่า ควรทำให้พวกเขาอยู่ในสังคมนี้ได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร พวกเขาไม่อยากพึ่งพาใครมาก แต่อยากใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองมากกว่า

สำหรับ ดอม คณัสนันท์ เงินคำ นักศึกษาผู้พิการทางสายตาไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังพอเห็นลางๆ ปัจจุบันเรียนอยู่ คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย มช. เป็นอีกหนึ่งชีวิต ที่มีโอกาสร่วมถ่ายทอดเรื่องราวลงใน ABOUT US ช่วงเรียนมัธยมฯ ต้องเดินจากโรงเรียนไปหอพัก และต้องผ่านถนนหลายช่วง มักเจอฟุตบาธที่ไม่เรียบเสมอกันบ้าง พื้นที่ฟุตบาธกลายเป็นตลาดนัดบ้าง หรือไม่ก็มีเสาไฟฟ้ามีต้นไม้โผล่ขึ้นมา ทำให้เดินชนล้มบ้าง แต่ไม่บาดเจ็บมากมายนัก 

พอเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่พบปัญหาในระหว่างการเรียนออนไลน์ คือมีเทคโนโลยีหลายตัวที่ผู้พิการเข้าไม่ถึง ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการเรียนพอสมควร 

ถ้าต้องพรีเซ็นต์งานหรือทำสไลด์ ส่วนมากเขาใช้กูเกิลสไลด์ หรือถ้าอาจารย์กำหนดให้อ่านบทความวิชาการ มักเป็นไฟล์ PDF ซึ่งโปรแกรมอ่านจอภาพ หรือโปรแกรมเสียงสังเคราะห์ ที่ผู้พิการทางสายตาใช้อยู่ ส่วนมากยังอ่านไฟล์ PDF ไม่ได้ ทำให้เสียโอกาสตรงนี้ไป ดอม บอกเสียงเศร้า

ขอคุณค่าและความเป็นมนุษย์ เท่ากันได้มั้ย

ไล่เรียงเรื่องราวมาถึงบทนี้ มีเสียงสะท้อนจาก นักเรียกร้องสิทธิเพื่อผู้พิการ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนในหลายประเด็น น่าขบคิด เริ่มต้นจาก เยล ñ สุริยา แสงแก้วฝั้น หนุ่มพิการด้วยโรคกล้ามเนื้อเกร็งตั้งแต่เกิด ที่หลายคนอาจรู้จักเขาดี ในฐานะผู้ตั้งคำถามมาตลอดนับสิบปี ถึง ความเท่าเทียม 

เยล เริ่มต้นให้นิยาม เมืองแห่งความเท่าเทียม ในความคิดของเขา ว่า เมืองนับรวมทุกคน ที่เรียกว่า Inclusive City (อินคลูซีฟ ซิตี้) ควรใช้งานร่วมกันได้ พูดภาษาชาวบ้าน คือ คนทุกคนใช้ได้ เป็นเมืองที่ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น วรรณะ ก่อนขยายความ คำว่า ชนชั้น วรรณะ นั้น เขาไม่ได้หมายถึง ทาส เจ้านาย หากหมายถึง อัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล เช่น คนพิการ คนชรา คนท้อง 

เมืองจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ ถ้าคนที่มีความหลากหลายหรือพหุทางสังคม สามารถอยู่ ใช้งาน และสามารถที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้ในเมืองนั้นๆ โดยปราศจากการครอบงำทั้งปวง เยล ย้ำจริงจังทุกคำ ทั้งยังเผยความรู้สึก ด้วยแววตาหม่น 

ผมเรียกร้องมาตลอด ไม่ต้องให้เรามากกว่าคนอื่น แต่ขอให้เราเท่ากับคนอื่นได้มั้ย เท่าในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง เท่าในทรัพย์สินเงินทอง เท่าในกายภาพ เท่าในความเป็นอยู่ แต่ความเท่าในที่นี้ หมายถึงคุณค่าและความเป็นมนุษย์

ขณะที่ กล้า อาทิตย์ หอมกาบ ตัวแทนจากชมรมเพื่อนผู้พิการ มช. แสดงทรรศนะต่อ รูปร่าง – หน้าตา ของ เมืองเท่าเทียม ด้วยว่า ต้องนำคนทุกคน มาเป็นคนออกแบบเมือง ไม่ใช่ยึดคนส่วนมาก ซึ่งก็คือคนไม่พิการจะเป็นคนที่ใช้ฟังก์ชั่นหลักของเมือง แต่ต้องนับรวม คนพิการ เด็ก คนแก่ รวมเข้าไปด้วย โดยให้พวกเขามาช่วยคิดสมการการออกแบบทั้งหมดว่าเมืองที่อยู่ร่วมกันจะเป็นยังไง คือ ต้องคิดมาเพื่อให้ทุกคนใช้ได้จริงๆ 

ส่วนประเด็นการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะของผู้พิการ นั้นกล้า บอกว่า อยากให้ทุกคนมองว่าเป็นประเด็นที่มีปัญหา ไม่ใช่มองแล้วบอก เออ! ฟุตบาธไทย เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อย่ามองเป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ อย่ามองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งไม่ใช่ เพราะถ้าส่งเสียงสะท้อนไปมากพอ แล้วทุกคนตระหนักถึงปัญหามากพอ เชื่อว่าเมืองที่เราอยู่ จะมีระบบบริการสาธารณะที่ดีกว่านี้ 

ด้าน วาวา วันฤดี เพ็ชรสลับแก้ว อดีตประธานชมรมเพื่อนผู้พิการ กล่าวเสริมว่า ผู้พิการในบ้านเรา ได้รับความไม่เท่าเทียมในสังคม เหมือนถูกแยกออกไปอีกกลุ่มหนึ่ง หรือถูกผลักไปเป็นคนชายขอบ ซึ่งความจริงแล้ว ข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาเป็นเหตุที่จะไปกดขี่คนอื่นให้อยู่ต่ำกว่า หรือว่าได้ใช้สิทธิไม่เท่ากัน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับผู้พิการ ถ้าไม่ใช่ผู้พิการไปเป็นคนกำหนด ยังไงเขาก็ไม่มีทางเข้าใจในสภาวะนั้นๆ เหมือนไปคิดแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง 

อดีตประธานชมรมเพื่อนผู้พิการ มช. บอกอีกว่า ขณะนี้เธอกำลังผลักดันประเด็น การออกแบบที่เท่าเทียม โดยต้องมากำหนดนิยามคำว่า เมือง ก่อนว่า มองเมืองในรูปแบบอะไร เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของสถานที่ หรือว่าผู้คน หรือว่าสถานที่กับผู้คน ถ้ามองว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของสถานที่กับผู้คน ก็มาไล่ดูในความเป็นจริงว่าพวกเรามีปฏิสัมพันธ์กับสถานที่มากแค่ไหน เช่น ได้ใช้งานสถานที่นั้น มากน้อยเพียงใด และคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนชรา คนท้อง คนพิการ หรือ คนปกติ สามารถเข้าถึงสถานที่นั้นได้มั้ย 

จากประสบการณ์ ที่มีเพื่อนผู้พิการ เวลาพาเขาไปที่สาธารณะเป็นเรื่องยากมากๆ ที่เขาจะเข้าถึงพื้นที่นั้นได้ ซึ่งมันนำมาสู่ความไม่เท่าเทียมในสังคม และเกิดการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ว่า ทำไมจึงออกแบบมาไม่เท่าเทียม วาวา อธิบายอย่างนั้น 

ก่อนส่งท้าย ด้วยแววตามุ่งมั่น 

การพยายามผลักดัน เรื่องการออกแบบเมืองให้เท่าเทียมนี้ หลายคนพูดเป็นไปได้ยาก แต่สำหรับหนู ถึงแม้จะเป็นไปได้ยาก แต่อย่างน้อยก็มีความหวัง คือ สมมติว่าทุกคนตระหนัก มาช่วยระดมความคิดกันหาทางแก้ปัญหา ส่วน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน ก็เข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดการเพื่อขับเคลื่อนให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ เรื่องยากที่ว่ากันนั้น ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ 

อ่านและดาวน์โหลดฉบับเต็ม

No Comments

Post A Comment