เมืองในกรอบถูก ‘กาง’ ออก ด้วยศิลปะข้างถนน ผลงานนักพ่นหน้าใหม่
18358
post-template-default,single,single-post,postid-18358,single-format-standard,bridge-core-2.1.7,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-title-hidden,qode_grid_1300,footer_responsive_adv,qode-child-theme-ver-1.0.0,qode-theme-ver-20.4,qode-theme-bridge,qode_header_in_grid,wpb-js-composer js-comp-ver-6.1,vc_responsive

เมืองในกรอบถูก ‘กาง’ ออก ด้วยศิลปะข้างถนน ผลงานนักพ่นหน้าใหม่

เรื่อง : มะลิวัลย์ ปันสุข / ภาพ : กานต์ บุญเยาวลักษณ์

สิ่งที่สำคัญกว่า การไปพาเด็กหาประสบการณ์นอกห้องเรียนคือความเชื่อที่ว่า เด็กๆ มีศักยภาพไปได้ไกล แค่ทุกวันนี้ เมืองที่เราอยู่ ไม่มีพื้นที่ให้พวกเขา

แนะนำตัวว่า ไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง จนไม่สามารถ ทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ได้ แถมสมัยวัยรุ่น ต้องใช้คำว่า เกเร ใช่เล่น แต่เพราะได้รับโอกาสดีๆ จากครูบาอาจารย์ หลายท่าน เขาเลยตั้งใจ อยากเป็น “พ่อพิมพ์” ตั้งแต่เป็นเฟรชชี่ 

ครูอาจารย์ หลายท่านเปลี่ยนแปลงผมได้ จึงอยากให้เด็กคนอื่น มีโอกาสได้เจอแบบผม เลยเกิดความคิด เฮ้ย! ถ้ามีอาชีพสามารถเปลี่ยนโลก ที่มีอิทธิพลต่อความคิด ในประเทศนี้ น่าจะมีแค่ นักการเมือง ดารา อินฟลูเรนเซอร์ ซึ่งผมคงเป็นไม่ได้ จะเป็นหมอ ก็คงยาก สุดท้ายเหลืออาชีพนี้แหละครับ ครู-อาจารย์ เลยมาเป็นซะ

ดร.ไดฟ์ – พสุธา โกมลมาลย์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนครคณะมนุษยศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน เริ่มต้นบทสนทนา พร้อมรอยยิ้มกว้าง 

ก่อนเล่าให้ฟัง เติบโตและไปเรียนหนังสือต่างถิ่น จนจบปริญญาเอก ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ และใช้ชีวิตที่บ้านเกิด นานกว่า 12 ปี แล้วและในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด็อกเตอร์หนุ่มท่านนี้ มองเห็น ปัญหา ที่ตัวเขานั้น อยากเข้าไปเป็น โซ่ข้อกลาง ทำหน้าที่ให้บางอย่างดีขึ้น 

สกลนคร เป็นเมืองที่มี ขนบ ที่เคยมีมาและเป็นอยู่ เช่น ถูกกำหนดให้เป็นเมืองอนุรักษ์ ดังนั้นวิถีแห่งการอนุรักษ์ จึงพยายามคงสภาพเดิมไว้ แต่พอมีคนเจนฯ ใหม่ๆ เข้ามาอยู่อาศัย ไลฟ์สไตล์ ความต้องการ รวมถึงทัศนคติของพวกเขา เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่เคยถูกมองว่าเป็นพื้นที่ในแบบที่เมืองต้องการ กลับไม่สอดคล้องกับความต้องการกับวิถีชีวิตของเด็กรุ่นใหม่

ดร.ไดฟ์ ฉายภาพบ้านเกิด ที่เขาเห็น 

และด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ทำให้เขาอยากสร้าง พื้นที่  ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเจนฯใหม่ ให้เกิดขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่า ทรัพยากรสำคัญที่สุดของเมือง คือ ผู้คน แต่จะทำอย่างไร ให้พื้นที่ เมือง และผู้คน ไปด้วยกันได้ และจะสร้างเมืองแบบไหน ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้จริงๆ นั่นคือโจทย์ยาก ที่ต้อง แก้สมการ ให้ออก 

POP CULTURE – บุคลิกเมือง ไปด้วยกันยังไง

นักพ่นหน้าใหม่ พื้นที่ก(ล)างธงชัย คือ เครื่องมือหนึ่ง ที่ดร.ไดฟ์ ในฐานะคนต้นเรื่อง ริเริ่มขึ้น ภายใต้สมมติฐาน คนรุ่นใหม่ มีศักยภาพและพลังมากพอ ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมีการ กำหนดรูปร่าง ให้พลังและศักยภาพดังว่า ผลิดอก-ออกผล กลายเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์และสอดคล้องกับเมืองด้วย เพราะหากไม่มีกระบวนการเรียนรู้ ที่จะเข้าไปพัฒนาทักษะและความกล้า แล้วหล่ะก็ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ อาจถูกมองว่า เป็นสิ่งที่เมืองไม่ต้องการไปทันที

สิ่งที่คนรุ่นใหม่ในสกลนคร ต้องการคือ วัฒนธรรมแบบ POP CULTURE เลยมาดูว่า มีอะไรพอจะทำได้และสอดคล้องกับบุคลิกของเมือง กระทั่งไม่นานมานี้ เกิดกรณี บุคคลนิรนาม ตระเวนพ่นสีบนกำแพงทั่วเมือง แต่เป็นรูปแบบที่ดูสกปรก จึงเกิดความคิดว่า ถ้าเด็กๆ อยากจะลองพ่น จะทำยังไง ให้การพ่นที่เลอะเทอะ กลายเป็นการพ่นที่มีพลัง และผู้คนอื่นๆ สามารถใช้ประโยชน์จากการพ่นนั้นได้ด้วย ดร.ไดฟ์ ย้อนที่มาแนวคิด 

ส่วนสถานที่ ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นเวที ปล่อยของ นั้น เขาเลือกชุมชนกลางธงชัย ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ โดยให้เหตุผล

อยาก กาง พื้นที่เก่า เพื่อบอกเล่าให้คนรุ่นใหม่รู้จักประวัติศาสตร์ความเป็นมา 

อยาก กาง สกลนคร ให้เปิดออกจากพื้นที่ใน ขนบ เพื่อทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้น

หากในทางปฏิบัติ การจะอธิบายกับผู้คนในชุมชนกลางธงชัย ให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ เข้าใจถึง ศิลปะข้างถนน ในแขนง กราฟฟิตี้ (Graffiti) ที่ใช้วิธีพ่นสีลงบนกำแพง เป็นรูปภาพตามแต่จินตนาการของผู้สร้างงานนั้น เขายอมรับว่า เป็นงานยากถึงขั้น เก็บไปฝัน (ร้าย) กันเลยทีเดียว

ตอนลงพื้นที่ไปขอกำแพงจากคนในชุมชน บางกำแพงก็ให้ บางกำแพงก็ไม่ให้ มีอยู่กำแพงหนึ่ง ผมโดนต่อว่าอยู่หนึ่งชั่วโมง จนเก็บไปฝันเลยครับ ดร.ไดฟ์ เล่าประสบการณ์จำไม่ลืม ก่อนหัวเราะอารมณ์ดี

ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เหนือคาดหมาย

กล่าวสำหรับวัตถุประสงค์ ของโครงการ นักพ่นหน้าใหม่ พื้นที่ก(ล)างธงชัย นั้น มีอยู่ 3 ข้อใหญ่ คือ หนึ่ง สร้างการสื่อสารว่า สกลนคร คืออะไร ผ่านสื่อรูปภาพเป็นงานกราฟฟิตี้ สอง เปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่อยากลองทำ ได้ทำสิ่งที่พวกเขาอยากทำมานานแล้ว และ สาม เพื่อ ท้าทาย ทิศทางการพัฒนาเมือง 

และภายใต้การทำหน้าที่ ประสานสิบทิศ อย่างเข้มข้น ของดร.หนุ่มท่านนี้ งานกราฟฟิตี้ บนกำแพงย่านชุมชนเก่า จากฝีมือ นักพ่นหน้าใหม่ หลายสิบชีวิต ก็ลุล่วงแล้วเสร็จ ในราวเดือนพฤศจิกายน 2564 

แต่ละชิ้นงาน ล้วนมีความน่าสนใจ อยู่ในระดับที่สามารถ ดึงดูด ให้ผู้คนทั้งในจังหว้ดสกลนครและพื้นที่อื่น พากันพูดถึง กลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ภายในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่ผลลัพธ์เอง ดูเหมือนจะเกินคำว่า บรรลุวัตถุประสงค์ ไปมาก 

ตั้งใจให้การสอนกระบวนการให้เด็ก ที่มีพลังอยากพ่น มีพลังอยากทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งประเด็นนี้ แน่นอนว่าได้แล้ว แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือ ได้เห็นชุมชนกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง เห็นผู้คนชุมชนเข้ามาพูดคุยกัน เห็นเศรษฐกิจในชุมชนที่อาจเรียกว่าตายไปแล้ว กลับฟื้นมีชีวิต และยังได้เห็นคนสกลนคร มีการตั้งคำถาม และแสดงวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ในการพัฒนาเมือง ดร.ไดฟ์ บอกอย่างนั้นก่อนพรั่งพรู น้ำเสียงภูมิใจ

และถ้าโฟกัสไปที่ตัวเด็ก สิ่งที่ได้ ผมว่ายิ่งกว่าเหนือความคาดหมาย เพราะเด็กได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยได้ลอง และในความเป็นจริง พื้นที่หรือสิ่งที่เขาจะได้ทดลองทำในเมืองที่เขาอาศัยอยู่นั้น มันไม่เคยมี แต่การที่เขาได้มาพ่น ได้มาลองทำศิลปะข้างถนน นับเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทำให้พวกเขารู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่คืออะไร และความหมายของวัฒนธรรมย่อยคืออะไร

ใดๆ ล้วน ขับเคลื่อนด้วย…ฟันเฟือง 

ตลอดบทสนทนาดร.ไดฟ์ มักย้ำอยู่เป็นระยะ ตัวเขาเป็นเพียง หนึ่ง ฟันเฟือง ที่ทำหน้าที่ให้โครงการขับเคลื่อนไปได้ เท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายฟันเฟือง ที่เข้ามาช่วยหนุนเสริม และ ฟันเฟือง แรก ที่อาจารย์หนุ่ม ยินดีนำเสนอ นั่นคือ ศิษย์เอกของเขาเอง 

เบนซิน รัฐวิสิทธิ์ สุดาชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร บุคลิกคล่องแคล่วตามสไตล์เด็กรุ่นใหม่ แต่ยังแฝงไว้ด้วยความอ่อนน้อม เล่าให้ฟัง ถึงหน้าที่ได้รับมอบหมาย 

เริ่มแรกพวกผม พากันมาดูสถานที่ก่อน มาดูกำแพง มาขอใช้กำแพงจากคนในชุมชน บางกำแพงก็ของ่าย บางกำแพงเหมือนจะขอได้ แต่กลับมีปัญหาตามมา เป็นเรื่องเข้าใจกันผิดบ้าง เบนซิน เล่า ก่อนยิ้มกว้างจนเห็นเหล็กดัดฟัน 

นอกจากทำหน้าที่ประสานกับชุมชนแล้ว เบนซิน ยังมีความรับผิดชอบอีกหลายเรื่อง เช่น วิ่งหานั่งร้านให้ศิลปินใช้ปีนขึ้นไปพ่นสีข้างกำแพงตึกสูงหลายชั้น ทั้งยังมีโอกาสได้ช่วยพ่นสี ตามคำแนะนำของศิลปิน ที่มาร่วมให้ความรู้ด้วย 

ผมไม่เข้าใจงานศิลปะหรอกครับ แต่ชอบอะไรที่แปลก อะไรที่ใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเห็นตามสื่อ เห็นเขาไปถ่ายรูปกันตามกำแพงที่ภาพงานศิลปะสวยๆ ผมได้แต่คิด ทำไมบ้านเราไม่มีบ้าง

กระซิบบอกเขินๆ และเผยความรู้สึก 

พอมีโอกาสลงมือทำ ได้เห็นผลงานที่ได้ทำร่วมกับพี่ๆ ศิลปิน รู้สึกว่าตัวเองมีโอกาสได้ทำอะไรดีๆ ให้กับเมืองของเรา มันมีความสุขนะครับ

และอีกหนึ่ง ฟันเฟือง ที่ต้องเอ่ยถึง เธอเป็นหญิงสาวร่างเล็ก แววตามุ่งมั่น ราวกับมีเป้าหมายบางอย่างในใจ 

โรงเรียนแถวนี้ เป็นเหมือนโรงเรียนชายขอบของอำเภอเมือง เด็กของเรา จึงไม่ค่อยได้รับโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์อะไรที่แปลกใหม่ซักเท่าไหร่

คุณครูนิ้วนาง จิดาภา ทัศคร อาจารย์วิชาสังคมศาสตร์ ประจำโรงเรียนดงมะไฟวิทยา ตำบลดงขมิ้น อำเภอเมืองสกลนคร เกริ่นให้ฟัง ทั้งเผยถึงเหตุผล ที่เธอเป็นแกนหลัก รับผิดชอบพาเด็กนักเรียนของโรงเรียนดงมะไฟฯ หลายสิบชีวิต ขึ้นรถสองแถว เดินทางมาหลายสิบกิโล เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการนักพ่นหน้าใหม่ พื้นที่ก(ล)างธงชัย ตามคำชักชวนของดร.ไดฟ์ 

ถ้ามองบริบทเรื่องวิชาการในโรงเรียน เด็กๆ ย่อมได้ความรู้จากการอ่านอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พวกเขายังขาด คือ ทักษะชีวิต เลยอยากให้ลูกศิษย์ ได้เปิดโลก ได้มีประสบการณ์นอกห้องเรียนบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญกว่า การไปพาเด็กหาประสบการณ์นอกห้องเรียน คือ ความเชื่อที่ว่า เด็กๆ มีศักยภาพไปได้ไกล แค่ทุกวันนี้ เมืองที่เราอยู่ไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้ ปล่อยของ เท่านั้น

คุณครูนิ้วนาง บอกก่อนเอ่ยเสียงเรียบ จริงจัง 

และหลังจากที่เด็กๆ มีโอกาสลงพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ความเป็นมาของชุมชน กระทั่งได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวของศิลปะข้างถนน ในนาม กราฟฟิตี้ ปรากฏว่า ลูกศิษย์ของคุณครูนิ้วนาง สามารถปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ ระเบิดศักยภาพออกมาให้เห็น ขนาด ศิลปินรุ่นพี่ ถึงกับ สตั๊น…ไปหลายวิ

เด็กบางคน วันๆ มีสมุดสเก็ตซ์ภาพติดตัวตลอดเวลา แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าเขาวาดอยู่คนเดียว หรือทำไว้ดูของเขาคนเดียว ฉะนั้นเมื่อมีพื้นที่ ให้เขาได้มีโอกาสได้เปิดเผยความสามารถ ย่อมจะทำให้เขาไปได้ไกลแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน คุณครูนิ้วนาง บอกอย่างนั้น

ตัวแทนชุมชนสนิม ศิลปินถ่ายทอดวิชา

ชุมชนสนิม คือ ชื่อเรียกขานกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายช่วงวัยในตัวเมืองสกลนคร ที่มีความชื่นชอบและ ไลฟ์สไตล์คล้ายกัน โดยเฉพาะศิลปะข้างถนน ทุกแขนง ทำให้ ออย-สุภัทร ฤทธิสุนทร หนุ่มรุ่นใหญ่ หนึ่งในสมาชิกชุมชนสนิม ได้รับการชักชวนจากดร.ไดฟ์ เข้าร่วมเป็น ศิลปิน ช่วยถ่ายทอดวิชาและเทคนิคการพ่น ให้กับบรรดาหน้าใหม่ หลายสิบชีวิต

เต้นบีบอย ตั้งแต่ปี 1998-1999 ตอนนั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดหลายคนเห็นแล้วแซวกัน เฮ้ ! บ่ ซ่อบ บ่ ซ่อบ ก็ได้แต่ยิ้มรับ บอกขอบคุณครับ แต่ผมไม่เคยหยุดทำในสิ่งที่ชอบ เพราะมันไม่ใช่เรื่องผิด แล้วจะหยุดทำไม จริงมั้ยครับ

ออย เริ่มต้นด้วยอัธยาศัยยิ้มแย้ม เป็นกันเอง ก่อนเล่าถึงประสบการณ์เป็นศิลปิน นำบรรดานักพ่นหน้าใหม่ เข้าไปสร้างสรรค์งานศิลปะบนกำแพงในชุมชนกลางธงชัย ให้ฟังอย่างออกรส

การนำงานศิลปะเข้าไป ผมจะตีโจทย์เรื่องชีวิตคนในชุมชน โดยดูเปอร์เซ็นต์ก่อนเลย คนมีอายุมากมั้ย วัยรุ่นเยอะมั้ย ถ้าคนมีอายุมากกว่า ต้องผลิตงานออกไปแบบไหน ถ้าผู้ใหญ่อยู่เยอะและกำแพงเป็นของผู้ใหญ่ ต้องทำงานให้ผู้ใหญ่เข้าใจที่สุด ทำปุ๊บให้รู้เลยว่าจะสื่ออะไร ทำให้ออกมาดี สวย ให้เขาโอเคกับผลงานเราให้ได้

ออย ย้อนประสบการณ์ประทับใจ ให้ฟังอีกว่า กำแพง 4 บล็อก ที่ได้รับมอบหมาย ผมพ่นเป็นรูปพญานาค แต่เป็นพญานาคตามไอเดียของเรา ก็ไปบอกคุณป้า จะทำพญานาคสไตล์มังกร โอบเมืองหนองหานตามตำนาน คุณป้าบอกเอาเลยๆ พอผมวาดไปแค่กลางเรื่อง ท่านบอกต้องเอาธูปเอาเทียนมาไหว้แล้วนะ ผมรีบอธิบาย บ่ ต้องหรอกครับ มันเป็นงานศิลปะ ป้ารีบบอก โอว บ่ ได้ เพิ่นงามปานนี้ แล้วยกมือไหว้กำแพง ผมนี่ยิ้มแป้นเลย

ดูเหมือนงานศิลปะข้างถนนครั้งนี้ ทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เข้าใกล้กันมากขึ้น 

ออย พยักหน้าเห็นด้วย ก่อนให้ความเห็นว่าคนสมัยเก่าเคยมองงานกราฟฟิตี้ เป็นสิ่งสกปรกตามกำแพง แต่ถ้าทำให้มันสวยงาม เขาจะเปลี่ยนความคิด การถ่ายทอดงานโดยใช้สีสเปรย์ของเรา ต้องทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า การมาพ่นนี้ ไม่ได้มาพ่นว่า ใครเป็นพ่อของสถาบันไหน แต่จะมาพ่นให้เป็นภาพที่มีทั้งความหมายและความสวยงาม

 แรงกระแทกจากงานนี้ กลับมาสูงมาก กระแทกทั้งผู้หลัก-ผู้ใหญ่ กระแทกทั้งคนในชุมชน แต่คำว่ากระแทก ไม่ใช่กระแทกแบบเลวร้าย เป็นกระแทกแบบเป็นผลดีมากๆ เลยครับ

ออย ส่งท้าย ด้วยแววตามีความสุข 

จากใจ นักพ่นหน้าใหม่ 

ไล่เรียงเรื่องราว มาถึงกลุ่มเป้าหมายหลัก ในฐานะตัวละครเอกของโครงการ นักพ่นหน้าใหม่ โอกาสนี้มี บูม โอ๊ต เอ๊ย และเก่งจัง ที่ขออนุญาตคุณครู สละเวลามาเป็นตัวแทนโรงเรียนดงมะไฟฯ ร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ 

ชวนคุยเริ่มต้น เข้าไปเป็นนักพ่นหน้าใหม่ ได้ยังไง

บูม ณันฐพล พฤฒิวสาร นักเรียนชั้น ม.6 ตอบแบบเหนียมๆ ครูเพิ่น แจ้งมาว่ามีโครงงานไปพ่นเกี่ยวกับงานศิลปะ ผมชอบงานศิลปะอยู่แล้ว เลยไปกับเขาครับ

ทำไมถึงชอบงานศิลปะ บูม ตอบแบบไม่ต้องหยุดคิด

อยู่ในสายเลือดครับ พ่อก็ชอบวาดรูป พี่ก็ชอบวาดรูป ผมก็ชอบวาดรูป บางช่วงก็วาดการ์ตูน ตอนนี้ชอบแนวลายไทย บูม บอกยิ้มๆ ก่อนโน้มตัวมากระซิบ เรียนหนังสือ ยากกว่าวาดรูป อีกครับ

คุยกันต่อถึงประสบการณ์นอกห้องเรียน ในพื้นที่กลางธงชัย บูม ยิ้มกว้าง ก่อนบอก เป็นงานแรกเลยครับที่ได้ไปพ่น ตอนแรกคิดว่าเส้นคงจะเละแน่นอน แต่มีพี่ๆ ศิลปิน มาบอกแนวทางพอลองทำก็ออกมาพอใช้ครับ ส่วนภาพที่ไปพ่น เกี่ยวกับปลา เป็นปลาลายไทย เพราะสกลนครมีหนองหานเป็นเวิ้งน้ำใหญ่ เลยมีน้ำ มีปลาเยอะî

ส่วน เอ๊ย แววมณี อ้อนวอน เล่าน้ำเสียงร่าเริง 

หนู ทำหน้าที่เดินดูงานค่ะ เพราะว่าหนูกลัวไปทำงานพี่ๆ เขาพัง แต่มีพี่คนนึงให้ช่วยกันลงสีบนกำแพงตามจินตนาการ เลยได้ระบายสี อย่างที่อยากลง

เมื่อได้เห็นภาพรวมทั้งหมดสำเร็จเสร็จแล้ว เอ๊ย บอก พี่ๆ เขาถ่ายทอดได้ เรียบร้อย เลิศหรูอลังการงานสร้างมากเลยค่ะ หนูคิดว่า ต้องมีนักท่องเที่ยวต้องอยากเข้าไปเดินเที่ยวชมแน่ๆ

ลองถามว่า ถ้ามีคนมองมันเลอะเทอะ เอ๊ย มีสีหน้าตกใจ ก่อนตอบ เป็นการเป็นงาน คงให้เขาคิดตามแบบของเขา หนูไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดเขาได้ แต่สำหรับหนู มันไม่เลอะค่ะ มันคือความสวยงาม

ขณะที่ โอ๊ต ณันทรกร วันธงชัย หนุ่มน้อยที่วันนี้มาในชุดรด. บอกว่า ส่วนตัวเขาชอบแรพ ชอบกราฟฟิตี้ เป็นทุนอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้แสดงออกมากนัก แต่หากมีเวลาว่าง ก็จะร้องเพลงแรพที่แต่งขึ้นเอง ถ่ายลงยูทูบบ้าง เมื่อถามถึงงานกราฟฟิตี้ ที่ชุมชนกลางธงชัย โอ๊ต บอกสั้นๆ มันดูเท่ และ ย่อยง่าย

ด้าน เก่งจัง นริศรา จันทร์สวัสดิ์ เผยให้ฟังตรงๆ 

ตอนแรกกะไปถ่ายรูปอย่างเดียว เพราะว่าหนูเหม็นสี แต่ไปถึงที่แล้ว เห็นพี่ศิลปินเขาพ่นกัน รู้สึกน่าลอง ในเมื่อมีโอกาสมาถึงตรงนี้แล้ว ควรจะได้ลองทำอะไรใหม่ ไม่ใช่มาถ่ายรูปเฉยๆ เก่งจัง สาวน้อย ม.6 คุยต่อ น้ำเสียงแจ่มใส 

หนูนับถือพี่ๆ สตรีตอาร์ต ทุกคนเลย สีก็ราคาแพง ไหนจะหัวพ่นสีหลายๆ หัว ไหนจะกลิ่นของสีอีก มันไม่ได้ดีต่อร่างกายขนาดนั้นนะคะ คนจะทำงานนี้ได้ เขาต้องมีใจรักมาก หนูนับถือพี่ๆ สตรีตอาร์ต ทุกคนเลย สีก็ราคาแพง ไหนจะจำได้วันนั้น แดดร้อนสุดๆ กว่าจะพ่นแต่ละกำแพงเสร็จ พี่ศิลปินบางคน ต้องขึ้นนั่งร้านชั้นสาม เพื่อขึ้นไปพ่นกำแพงตึก

ความหวัง…ส่งท้าย

ก่อนทีมงาน จะลากลับเมืองหลวง มีโอกาสคุยนอกรอบกับดร.ไดฟ์ อีกครั้ง จึงขออนุญาตถามแบบคนคุ้นเคยกันมากขึ้น งานสอนหนังสือทุกวันนี้ คงไม่หนักมาก ถึงมีทั้งเวลาและพลังมาขับเคลื่อนงานกับชุมชนและเยาวชน 

คู่สนทนา ยิ้มน้อยๆ ก่อนเปิดอก 

ผมได้ความภูมิใจ ที่บอกตัวเองได้ว่า เฮ้ย! เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าการยืนสอนหนังสือในห้องเรียน และความเป็นอาจารย์จริงๆ มันไม่ได้แค่สอนหนังสืออย่างเดียวนะ ความเป็นอาจารย์จริงๆ คือ ควรสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้ศักยภาพของเขาได้เต็มที่ มากยิ่งขึ้นด้วย

…..

คำตอบจากดร.หนุ่ม ที่เพิ่งพบหน้าได้ไม่นาน ทำให้คนฟังอย่างเรารู้สึก ประเทศนี้…ยังพอมีความหวัง 

อ่านและดาวน์โหลดฉบับเต็ม

No Comments

Post A Comment