The Youngster พูดคุยกับอาจารย์อวยพร เขื่อนแก้ว
18439
post-template-default,single,single-post,postid-18439,single-format-standard,bridge-core-2.1.7,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-title-hidden,qode_grid_1300,footer_responsive_adv,qode-child-theme-ver-1.0.0,qode-theme-ver-20.4,qode-theme-bridge,qode_header_in_grid,wpb-js-composer js-comp-ver-6.1,vc_responsive

The Youngster พูดคุยกับอาจารย์อวยพร เขื่อนแก้ว

“เด็กที่ไม่เรียบร้อย ชอบแหกกฎ โตมาไม่ได้ดีหรอก”

“พ่อแม่ทำงานหนัก หาเงินมาให้ลูก ลูกต้องตั้งใจเรียนนะ”

“เรียนตามที่แม่บอก โตมาจะได้ทำงานมั่นคงเหมือนแม่”

รูปประโยคข้างต้นผู้ใหญ่บางคนอาจเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ จากการเป็นผู้รับและถูกหล่อหลอมทำตามขนบที่ผู้เป็นพ่อ แม่ และอาจรวมไปถึงครู กรอกข้อมูลในแบบ ‘เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด’ จนเกิดเป็นความเคยชินและถือปฏิบัติกันมาจนโต เพราะคิดว่าคำพูดเหล่านั้นเต็มไปด้วย ‘ความรักและความหวังดี’ จากผู้ที่เคารพมอบให้

The Youngster พูดคุยกับอาจารย์อวยพร เขื่อนแก้ว ผู้เขียน ‘เลี้ยงลูกให้ถูกยุคสมัย’ และกระบวนกรที่ทำงานด้านสตรีและครอบครัว ถึงมุมคิดในการทำความเข้าใจเด็กยุคนี้ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องใด ความห่วงใย ความหวังดีของพ่อแม่บางเรื่องบางเหตุการณ์จะกลายเป็นดาบสองคมที่ทำร้ายลูกหรือไม่ แล้วเราจะเปลี่ยนโลกทัศน์ของคนบางกลุ่มที่ยังเป็นแบบอำนาจนิยมไปสู่การสร้างอำนาจร่วมในโลกสมัยใหม่ เพื่อลดอคติความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมที่ยังระอุเช่นนี้ได้อย่างไร

[ ครอบครัว-โรงเรียน ตัวแปรสำคัญหล่อหลอมโลกทัศน์เด็ก ]

จากประสบการณ์ที่ทำการอบรมพ่อแม่ ผู้ปกครองและครูในสถาบันการศึกษา พบว่าประมาณ 80% จะบอกว่าครอบครัวและโรงเรียน เป็นแหล่งอำนาจนิยมที่มีส่วนสำคัญหลอมระบบคิดให้เขาโตมาเป็นเขาทุกวันนี้ ถูกหลอมอยากหนักจนอยู่ในเนื้อในตัว บางคนโตมาในครอบครัวที่ยังคงเป็นแบบวัฒนธรรมอำนาจนิยม ก็คือพ่อและแม่ร่วมกันใช้อำนาจเหนือลูก เช่น การดุด่า การบังคับ การอ้างบุญคุณ ข่มขู่ ไปจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ในขณะเดียวกันครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังให้อำนาจชายเป็นใหญ่ ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง เมื่อสังคมไทยมีวัฒนธรรมอำนาจนิยมพ่วงกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ถูกฝังลึกมายาวนานในหลายโครงสร้างของสังคม เพราะฉะนั้นเราต้องแก้โลกทัศน์ที่ถูกหล่อหลอมมา ต้องปรับจากอำนาจนิยมไปสู่การสร้างอำนาจร่วมในโลกสมัยใหม่

อาจจะเริ่มจากแบบเรียน และวิธีการสอนของครูที่ต้องปรับวิธิคิดให้ทันเด็กยุคนี้ เพราะจากที่ทำอบรมครู พบว่าระบบคิดของครูบางกลุ่มยังอยู่ในกรอบของการศึกษาแบบเก่า แต่ค้นพบว่าครูที่ถูกผลักอยู่ตามชายขอบ บางคนเป็นชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ LGBTQ+ จะมีระบบคิดและเข้าใจเรื่องของการกระจายอำนาจที่ชัด ไม่ต้องอธิบายพวกเขามาก เพียงแค่เราเปิดพื้นที่ โดยเขาจะพยายามทำห้องเรียนของเขาให้เป็นห้องเรียนให้อำนาจเด็ก (Empower)

นอกจากนี้ ภาษาของครูที่พูดกับเด็กต้องไม่กดทับ หรือมีความเป็นอำนาจซ้อนอยู่ เช่น ไม่ควรใช้คำว่า เด็กพวกนี้ไม่เรียบร้อย เด็กพวกนี้ชอบแหกกฎ โตมาไม่ได้ดีหรอก โดยที่ครูบางคนไม่รู้ตัวว่าภาษาที่เขาใช้เป็นการตีตราและกดทับเด็ก เพราะประโยคพวกนี้เป็นสิ่งเขาได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ที่น่าเป็นห่วงคือพบว่าครูที่มาอบรมเป็นกลุ่มครูที่อายุไม่มาก แต่ถูกกรอบของความอำนาจนิยมหล่อหลอมพวกเขาและสืบทอดมายังเด็กๆ ที่พวกเขาสอน.”

ในมุมความเห็นส่วนตัว โจทย์หลักที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนโลกทัศน์แบบอำนาจนิยม คือ ที่โรงเรียน และครอบครัว เราอย่าเพิ่งหมดหวัง สิ่งที่จะแก้ในตอนนี้ อาจจะต้องไปท้าทายกระทรวงศึกษาฯ ทบวงมหาวิทยาลัยให้ปรับรูปแบบการสอน ปรับแบบเรียนให้ทันโลกทัศน์ของเด็กยุคนี้”

[ ความรักและหวังดี คำพูดที่อาจแฝงไปด้วยอำนาจนิยม ]

ตอนทำอบรมจะเจอประโยคพวกนี้บ่อยมากอย่าง หนูเป็นลูกที่ดีไหม หนูไม่เรียนตามที่พ่อแม่บอกหนูเนรคุณพ่อแม่ไหม เป็นความกลัวและความกังวลที่จะมาจากฐานคิดว่าต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ ต้องทำตามที่พ่อแม่บอก เพราะพวกเขาหวังดี มีเคสน้องที่ทำอาชีพเป็นนางพยาบาล เคยอยากกระโดดตึกฆ่าตัวตาย เพราะเขาไม่มีความสุขในชีวิตจากอาชีพพยาบาลที่พ่อแม่เขาอยากให้เป็น โดยที่เขาไม่ได้ทำตามฝันของตัวเองแต่ทำตามที่พ่อแม่บังคับให้ทำ ด้วยการใช้คำว่า ‘ความหวังดีที่พ่อแม่มีให้ลูก’ อยากให้มีงานทำที่มั่นคง แต่รู้ไหมนั่นคือการที่ลูกของเขาสูญเสียจิตวิญญาณไปแล้วนะ

คำว่า Control (ควบคุม) กับ Caring (ห่วงใย) ต่างกัน ถ้าคุณไปบอกลูกว่าลูกต้องเรียนอันนี้ เช่นใช้คำพูดที่ว่า เรียนอันนี้สิจบมาจะได้ดี มั่นคงเหมือนพ่อแม่ เป็นการ Control ลูกด้วยการเคลือบความรักและความหวังดีมาเป็นกรอบคิด รวมไปถึงการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเขา เช่น ไปเปิดตรวจกระเป๋า ไปเปิดดูข้อมูลในมือถือลูก วิธีการเลี้ยงลูกแบบนี้จะยิ่งทำให้ห่างจากลูก แม้จะบอกว่าคือการห่วงใย แต่นี่จะยิ่งทำให้ลูกไม่ไว้ใจคุณ เขาหายใจลำบากเพราะคุณไม่เคารพพื้นที่ของเขา ยิ่งคุณ Control ลูกเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสูญเสียลูกมากขึ้นเท่านั้น

ความรักและหวังดี จึงเป็นคำที่น่ากลัว อาจแฝงด้วยอำนาจนิยม ที่เราจะเห็นในโครงสร้างสังคม ตั้งแต่ระบบการปกครองประเทศจนมาถึงสถาบันครอบครัว

[ รับฟัง…การสื่อสารแบบสันติ เข้าใจเขา เข้าใจเรา ]

ในสังคมทุกวันนี้ อย่างกรณี หยก มองว่าเป็นการปะทะกันทางความคิดในช่วงเปลี่ยนผ่านสังคม ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนมีสิทธิสามารถทำได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง อย่ายกระดับไปเป็นความเกลียดชัง ไม่ว่าจะปะทะกันด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง ชาติพันธุ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่คนที่เขาลุกมาบางทีก็เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชน ซึ่งมองว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายที่ออกมาเชิงแสดงจุดยืนทางความคิดของตน แต่ไม่ว่าฝ่ายไหนจะลุกขึ้น น้องๆ ก็ดี ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มๆต่างก็ดี อย่าให้หลุดไปถึงเรื่องของความเกลียดชัง

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเข้าใจคนในแต่ละช่วงวัย พวกเขาถูกหล่อหลอมมาไม่เหมือนกัน การฟัง แม้ว่าเป็นการสื่อสารพื้นฐานที่สุด แต่กลับสำคัญที่สุด ถ้าพ่อแม่ไม่ฟังลูกคือจบเลย คุณจะสูญเสียลูกไปเรื่อยๆ จะต้องฟังให้มากกว่าพูด โดยเฉพาะรับฟังในเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย ต้องใจเย็น พอฟังเสร็จ ก็ชวนคุยแชร์ความเห็นกัน ลูกคิดแบบนี้ เราคิดแบบนี้เป็นการทำความเข้าใจระหว่างกัน

“ถ้าคุณรักใคร คุณต้องฟัง รักประชาชนก็ต้องฟังประชาชน รักลูกก็ต้องฟังลูก รักแฟนก็ต้องฟังแฟน นี่คือพื้นฐานที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมอำนาจนิยม ฟังก่อนว่าเขาคิดยังไง รู้สึกยังไง แม้จะเห็นต่าง แต่ก็บอกตัวเองว่าต้องฟังเขาให้จบ จะได้เห็นวิธีคิดของกันและกัน เพราะความเข้าใจจะทำให้เกิดความอ่อนโยนและมีความอดทนพอที่จะดีเบตกัน โกรธกันได้เป็นเรื่องปกติ แต่อย่าทำให้มันแตกร้าว”

เช่นเดียวกับการสื่อสารที่ลดความเกลียดชัง ต้องชวนกันคิดชวนกันคุย อย่าตั้งป้อมว่าเราเหนือกว่าเขา บางที่คุยกันเหมือนอยู่กันคนละโลก ต้องมาคิดจะทำยังไงให้เขาเห็นโลกของเรา ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเปิดใจมองเห็นโลกของเขาว่าถูกครอบด้วยระบบความคิดแบบไหน ยิ่งเห็นโลกทัศน์กันมากเท่าไหร่ เราก็เข้าใจกันมากขึ้น สิ่งสำคัญต้อง Educate คนในสังคม ซึ่งใช้เวลานานและทำยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ต้องใจเย็น เพราะหากผู้คนเข้าใจกันและกันจะนำมาซึ่งการลดความเกลียดชังลงในสังคม ตอนนี้คนในประเทศต้องมามองในทิศทางเดียวกันว่า เรากำลังมาเปลี่ยนสังคมร่วมกัน ซึ่งการเปลี่ยนจะเกิดขึ้นได้เมื่อไม่มองอีกฝ่ายเป็นศัตรู แต่เป็นเพื่อนร่วมทางที่เดินไปด้วยกัน

‘เลี้ยงลูกให้ถูกยุคสมัย’ เพื่อสร้างครอบครัวที่ปลอดภัย มีสุข สร้างสรรค์และเท่าทันโลก อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://cclickthailand.com/ouyporn-keunkaew2/

#PeaceEducation#TheYoungster

No Comments

Post A Comment