ร้อยรังสรรค์ เมล็ด(ชาติ)พันธุ์ รอวันงอกงาม
18379
post-template-default,single,single-post,postid-18379,single-format-standard,bridge-core-2.1.7,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-title-hidden,qode_grid_1300,footer_responsive_adv,qode-child-theme-ver-1.0.0,qode-theme-ver-20.4,qode-theme-bridge,qode_header_in_grid,wpb-js-composer js-comp-ver-6.1,vc_responsive

ร้อยรังสรรค์ เมล็ด(ชาติ)พันธุ์ รอวันงอกงาม

เรื่อง : มะลิวัลย์ ปันสุข / ภาพ : สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์

…สิ่งที่พบเห็นมาตลอดนับสิบปี คือ กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลุ่มเปราะบาง มีความด้อย และเกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ มีความเจริญ มีความศิวิไลซ์ ที่คนในเมืองไม่มี โดยเฉพาะเรื่องของภูมิปัญญา และวัฒนธรรม

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระบุไว้ว่า ประเทศไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทางประวัติศาสตร์ ทางภาษา และทางวัฒนธรรมของประชาชน ซึ่งรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าต่างๆ  ที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกัน ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาอยู่ราว 70 กลุ่ม กระจายอยู่ในส่วนต่างๆ  ของประเทศ

ซึ่งชาติพันธุ์ที่มีอยู่อย่างหลากหลายนั้น ส่วนใหญ่ผสมกลมกลืนกัน ภายใต้นโยบายบูรณาการของรัฐ และมีฐานะเป็นพลเมืองของรัฐไทย แต่เป็น กลุ่มเสี่ยง ที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สูงกว่าผู้คนกลุ่มอื่น และแทบทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ต่างประสบปัญหาในหลายมิติ นับตั้งแต่ ความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม 

แม่สะเรียง เมืองสร้างสุข เคารพความหลากหลาย 

โครงการแม่สะเรียง เมืองสร้างสุข นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียน ภายใต้ MIDL for Inclusive Cities  เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด เมืองแห่งการเคารพความหลากหลายของอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม  

ดำเนินโครงการโดยนักเรียนชั้นม.ปลาย ของโรงเรียนแม่สะเรียงบริพัตรศึกษา อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี ครูบ๊อบบี้ – ศุภกิจ พึ่งบุญ อาจารย์หนุ่มวัยสามสิบเศษ ประจำโรงเรียนแม่สะเรียง เป็นผู้ดูแล  

การพูดคุยกันในครั้งนั้น ครูบ๊อบบี้ บอกว่า เป็นคนอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่มาเป็นครูอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง ได้กว่า 8 ปีแล้ว สอนวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์สากล ให้กับนักเรียนม.ปลาย มีหลักในการสอนคือ สร้างกิจกรรม ฝึกให้เด็กคิดนอกกรอบ

การสอนในห้องเรียน ถูกจำกัดด้วยตัวชี้วัด มาตรฐาน หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ พอนำเด็กออกมาทำกิจกรรมข้างนอก เด็กสามารถแสดงออก หรือสื่ออะไรบางอย่าง ให้ผู้ใหญ่อย่างเรา เกิดความเข้าใจพวกเขา ผมจึงเชื่อว่า การเรียนในห้องเรียนนั้น ยังไม่พอ

ครูบ๊อบบี้ เผยแนวคิดในแบบของเขา

แม่สะเรียง เมืองสร้างสุข จึงเป็นกิจกรรมนอกห้องเรียน ที่ครูบ๊อบบี้ ผลักดันให้เกิดขึ้น ภายใต้แรงหนุนเสริมจากสสย. มีเป้าหมายสร้างความเข้าใจในชุมน เพื่อลดปัญหาในเรื่องความแตกต่าง ผ่านแกนนำเยาวชนกว่า 40 ชีวิต ซึ่งมีความแตกต่างกัน ทั้งชาติพันธุ์ และศาสนา 

หลังจากที่มีการใช้เครื่องมือหลากหลาย เพื่อขับเคลื่อนโครงการนั้น ได้มีมุมมองจากแกนนำเยาวชนสะท้อนออกมาว่ายังพบการดูถูก การบูลลี่ (Bully) ในเรื่องของการพูด การใช้ภาษาแม่ หรือภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ 

พวกเขาจึงอยากสื่อสารเรื่องของภาษา ให้สังคมภายนอกเข้าใจ ถึงที่มาภาษาของพวกเขาคืออะไร ทำไมพวกเขาจึงต้องใช้ภาษาแบบนี้ และทำไมพวกเขาถึงพูดไม่ชัด  

กิจกรรมทั้งหลายของ แม่สะเรียง เมืองสร้างสุข เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ  อยากชวนให้ผู้คน มารู้จักและสร้างความเข้าใจถึงความหลากหลายของภาษา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ เพื่อลดอคติที่อาจฝังรากลึก ครูบ๊อบบี้ เผยด้วยแววตามีความหวัง

ก่อนบอกยิ้มๆ  

ถามว่ากิจกรรมนี้ บรรลุวัตถุประสงค์หรือเปล่า ต้องบอกว่าในความเป็นจริง ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่ง ไม่เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ชาติพันธุ์เอง ยังมีความคิดที่ว่า ต้องพูดภาษาไทยให้ชัด ถึงจะเข้าไปในชุมชน ไปเชียงใหม่ ไปกรุงเทพฯ ได้ ไม่งั้นจะอายเขา

ผ้าปักชาติพันธุ์ ภูมิปัญญา สง่าผ่าเผย

เมืองแห่งความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ของโรงเรียนสักงามประชาสรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร นับเป็น อีกหนึ่งบทเรียนที่หลากหลาย ของโครงการ MIDL for Inclusive Cities  

อาจารย์หนู รศ.ดร.ณัฐรดา วงษ์นายะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ในฐานะฟันเฟืองคนสำคัญ ย้อนที่มาที่ไปของงานนี้ให้ฟัง ว่า ชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน ในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีชุมชนอยู่แถบพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่วนในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ก็มีชุมชนกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ 

และด้วยความที่ตัวอาจารย์หนูเอง มีความสนใจและทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีโอกาสร่วมงานกับสสย. ในประเด็นของ MIDL for Inclusive Cities จึงอยากเสนอแง่งาม ของชาติพันธุ์ อิ้วเมี่ยน ในจังหวัดกำแพงเพชร ที่หลายคนอาจมองไม่เห็นมาก่อน

จากการทำงานเรื่องชาติพันธุ์ สิ่งที่พบเห็นมาตลอดนับสิบปี คือ กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลุ่มเปราะบาง มีความด้อย และเกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ มีความเจริญ มีความศิวิไลซ์ ที่คนในเมืองไม่มี โดยเฉพาะเรื่องของภูมิปัญญา และวัฒนธรรม จึงเป็นที่มาของ ผ้าปักอิ้วเมี่ยน ซึ่งถูกนำมาใช้ เป็นสื่อสำคัญในโครงการ เมืองแห่งความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม

ผ้าปักอิ้วเมี่ยน คือ วัฒนธรรมภูมิปัญญาของชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน ที่กำลังจะสูญหาย เพราะลูกหลานไม่เห็นคุณค่า ส่วนคนเฒ่าคนแก่ ก็ไม่กล้าที่จะถ่ายทอดให้ใคร เพราะคิดด้อยค่าตัวเอง เนื่องจากไม่ได้เรียนหนังสือ พูดภาษาไทยไม่ได้

เมืองแห่งความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม จึงจัดให้มีกระบวนการเรียนรู้ และทำงานร่วมกัน ของคน 3 วัย เด็ก พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย กระทั่งเกิดความเข้าอก-เข้าใจ ซึ่งกันและกันมากขึ้น เด็กเห็นคุณค่าวัฒนธรรมของตัวเอง ไม่อายที่จะบอกใครว่าเป็นอิ้วเมี่ยน คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ส่วนคนเฒ่าคนแก่ เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และร่วมถ่ายทอดภูมิปัญญาผ้าปัก อย่างสง่าผ่าเผย อาจารย์หนู เล่าด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้ม 

ถามอาจารย์หนู เมืองของทุกคนสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ จะมีหน้าตาอย่างไร ได้รับคำตอบกลับมาแบบเข้มๆ 

เมืองแห่งความเท่าเทียม เมืองของทุกคน เอาเข้าจริงคงเป็นแค่อุดมคติ  ทุกวันนี้ ใครมีเงินก็ได้รับการยอมรับ นับหน้าถือตา คนเราใช้เงินนำ จนทำให้ขาดการมองคุณค่าบางอย่าง ที่ทำให้อยู่ร่วมกันแล้วมีความสุข เคารพกัน ไม่แบ่งแยก หรือไม่ด้อยค่าคนอื่น

เมื่อ เมืองเท่าเทียม อาจเป็นได้แค่อุดมคติ ในฐานะคนทำงาน ที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ต้องมีวิธีคิดอย่างไร อาจารย์หนู ยิ้มกว้าง ก่อนบอกสั้นๆ ìทำงานต่อไป แค่ที่ทำได้ เพราะไม่สามารถแบกโลกไว้ได้คนเดียว

เตหน่ากู ความภูมิใจ ของชาวปกากะญอ

ชาติพันธุ์ปกากะญอ หรืออีกชื่อคือ ชาวกะเหรี่ยง ที่หมู่บ้านยะพอ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก นั้น มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับ ช้าง มายาวนาน 

ภาษาที่พวกเขา ใช้เรียกสัตว์เลี้ยงใช้งาน ซึ่งเปรียบเป็นเหมือนคู่ทุกข์คู่ยากนี้ว่า กะชอ

นอกจาก กะชอ ที่พวกเขารักและหวงแหนแล้ว ปกากะญอ แห่งหมู่บ้านยะพอ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจ 

เตหน่ากู เป็นเครื่องดนตรีที่ฟ้าประทานให้กับชาวกะเหรี่ยง เอ็มมานูเอล ตาดิ ชายหนุ่มปกากะญอ วัยสามสิบเศษ ในฐานะผู้รู้เรื่องของเครื่องดนตรีเตหน่า แห่งอำเภอพบพระ ให้คำจำกัดความอย่างนั้น 

เตหน่ากู เครื่องดนตรีแห่งความภาคภูมิใจของชาวปกากะญอ

ก่อนบอก เตหน่ากู เปรียบเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ไม่เบียดเบียนใคร ทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นไม้แห้งๆ ซึ่งไม่มีใครนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนสายดีด สมัยก่อนทำจากเถาวัลย์ ที่ขึ้นรกตามป่า กระทั่งปัจจุบัน ส่วนใหญ่ทำจากสายเบรกจักรยานที่ไม่ใช้แล้ว และด้วยความที่ เอ็มมานูเอล นั้น มีความสามารถเกี่ยวกับเครื่องดนตรีของชาติพันธุ์ดังกล่าว ทาง ดร.สุวิชชาภรณ์ ชนิลกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยะพอ จึงเชิญเขามาเป็นครูผู้ฝึกสอนเตหน่าให้กับ คุณครูต้น ตราการ คำเกิด ในฐานะผู้ควบคุมวง และนักเรียนในชมรมรักษ์กะชอเตหน่า อีกนับสิบชีวิต

โดยมุ่งหวังให้นักเรียนในโรงเรียนบ้านยะพอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานปกากะญอ ได้มีโอกาสซึมซับ และช่วยกันสืบทอดรักษาสุทรียภาพทางวัฒนธรรม ของพวกเขานั่นเอง

เครื่องดนตรีเตหน่า สามารถทำให้นักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานปกากะญอ ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง สามารถที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างในสังคม และเป็นเครื่องมือ ทำให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพของตนเองออกมาได้เต็มที่ผ่านบทเพลง ผ่านดนตรี ดร.สุวิชชาภรณ์ บอกเล่าถึงวัตถุประสงค์ต้นทางของโครงการเยาวชนพลเมืองรักษ์กะซอเตหน่า ที่ทำงานร่วมกันกับทางสสย. ภายใต้แนวคิด MIDL for Inclusive Cities

ดร.สุวิชชาภรณ์ ชนิลกุล

ความจริงตอนแรกๆ  พวกหนูไม่รู้จักเครื่องดนตรีเตหน่า ซะด้วยซ้ำค่ะ เพิ่งจะมาได้ยินชื่อ และคนในหมู่บ้านยะพอ ที่เล่นเตหน่าเป็น เหลือแค่ 2-3 คน ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ หนูเลยอยากจะเล่น อยากรักษาไว้ เพราะมันใกล้หายไป ผู้คนเขาไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว และวัยรุ่นในหมู่บ้าน ก็ไม่ค่อยสนใจกัน พวกเรา เลยเอากีตาร์มาเล่นด้วย ผสมผสานกัน เพื่อให้คนรุ่นหลังสนใจ ศศิ ศศิธร เจริญลักขณา นักร้องนำวงรักษ์กะชอเตหน่า แห่งโรงเรียนบ้านยะพอ บอกกับเราอย่างนั้น 

เมื่อหันไปตั้งคำถามกับเอ็มมานูเอล ในฐานะผู้ถ่ายทอดการละเล่นเครื่องดนตรีเตหน่า ให้กับปกากะญอ รุ่นใหม่ มีความคาดหวังอย่างไร หรือไม่ เขานิ่งนึกครู่หนึ่ง ก่อนพรั่งพรูความรู้สึก เวลาเขาเข้าไปในเมือง บางครั้งตะโกนเรียกเพื่อนเป็นภาษากะเหรี่ยง แต่เพื่อนของเขาไม่หันมาเลย คงเพราะอาย บางคนใส่ชุดกะเหรี่ยง เวลาใส่เดิน จะบิดไปบิดมา กลัวคนอื่นจะรู้ว่าเป็นคนดอย 

ฉะนั้นสิ่งเดียว ที่เขาหวังใจไว้ลึกๆ คือ ìอยากให้เด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ต้องอาย…กำพืดตัวเอง

อ่านและดาวน์โหลดฉบับเต็ม

No Comments

Post A Comment