นักวิชาการอีสานนำเสนอโครงการเยาวชนพลเมืองเท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน (MIDL for Inclusive Cities 2021)
18164
post-template-default,single,single-post,postid-18164,single-format-standard,bridge-core-2.1.7,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-title-hidden,qode_grid_1300,footer_responsive_adv,qode-child-theme-ver-1.0.0,qode-theme-ver-20.4,qode-theme-bridge,qode_header_in_grid,wpb-js-composer js-comp-ver-6.1,vc_responsive

นักวิชาการอีสานนำเสนอโครงการเยาวชนพลเมืองเท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน (MIDL for Inclusive Cities 2021)

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 เครือข่ายนักวิชาการสื่อภาคอีสานซึ่งทำงานพัฒนาด้านสื่อ เยาวชน ชุมชน จาก 6 มหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด และมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ นำเสนอโครงการย่อยภายใต้โครงการเยาวชนพลเมืองเท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน (MIDL for Inclusive Cities 2021) ซึ่งรับผิดชอบโดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย) โดยแต่ละโครงการมีจุดร่วมกันคือการบูรณาการรายวิชาที่เปิดสอนในระดับมหาวิทยาลัยเข้ากับการสร้างทักษะเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL)ของเยาวชน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การร่วมสร้างเมืองของทุกคน (inclusive city) ดังนี้

โครงการก(ล)างธงชัย: พื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน: มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร มีเป้าหมายที่จะทำให้พื้นที่เมืองเก่าคือชุมชนกลางธงชัย จ.สกลนคร ที่มีอารยธรรมความเจริญรุ่งเรือง แต่ในปัจจุบันเริ่มทรุดโทรมและกำลังหายออกไปจากความทรงจำ กลับมาคึกคักและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของสกลนคร และเกิดการพัฒนาทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผ่านงานศิลปะและนวัตกรรมทางสังคมแบบต่างๆ เช่น กิจกรรมพ่นกำแพง กิจกรรมมัคคุเทศชุมชน กิจกรรมห้องเรียนชุมชน ประกอบกับเป็นการสื่อสารเรื่องราวของพื้นที่ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้คนในเขตพื้นที่เมืองสกลนคร

โครงการเยาวชนพลเมืองเท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองอุดรธานี (เติมลมหายใจให้ลำห้วยหมากแข้ง): มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี มีเป้าหมายที่จะสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อแหล่งน้ำสาธารณะห้วยหมากแข้งให้กับคนเมืองอุดรธานี ซึ่งปัจจุบันห้วยหมากแข้งกำลังประสบปัญหาความเสื่อมโทรม เนื่องจากเป็นที่รองรับขยะ น้ำเสีย และของเสียจากแหล่งต่างๆ ที่ทิ้งลงมาโดยไม่ได้รับการบำบัด และเมื่อถึงฤดูฝนก็ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชน และบ้านเรือนที่อยู่ในบริเวณริมคลองอีกด้วย ผ่านกิจกรรมที่ออกแบบร่วมกัน เช่น เรื่องเล่า ภาพถ่าย งานศิลปะ สารคดี ข่าว หนังสั้น เพื่อพัฒนาให้ห้วยหมากแข้งเป็นพื้นที่สาธารณะคุณภาพของชุมชนและเมืองสำหรับทุกคน

โครงการสร้างเมืองน่าอยู่ ด้วยพลังพลเมืองเท่าทันสื่อ MIDL for Inclusive Cities: มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่สาธารณะในชุมชนท่าเรือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง ให้เป็นพื้นที่ที่เกิดประโยชน์ต่อกิจกรรมของทุกคน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมโดยให้วัด โรงเรียน และ ผู้นำชุมชน ร่วมดำเนินงาน ผ่านกิจกรรมการเดินเมือง สะท้อนปัญหา และร่วมผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดเมืองสำหรับทุกคน

โครงการ Roi Et Inclusive City สร้างเมืองร้อยเอ็ดของทุกคน : กำแพงเมือง – คูเมือง เมือง ร้อยเอ็ด: มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด มีเป้าหมายที่จะสร้างเมืองร้อยเอ็ด ให้เป็นเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะคุณภาพ เป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่หลากหลายและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เด็กเยาวชนเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและชุมชน ร่วมสร้างเมืองที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน ผ่านกิจกรรมเดินเมืองกำแพงเมือง-คูเมืองร้อยเอ็ด เพื่อค้นหาเรื่องเล่าเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสะท้อนปัญหาและสร้างจิตสำนึกแก่คนในเมืองร้อยเอ็ด ผ่านสื่อสร้างสรรค์ เช่น การเล่าเรื่อง ภาพถ่าย งานศิลปะ สารคดี ข่าว หนังสั้นโครงการพลเมืองเยาวชนเท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัลเพื่อร่วมสร้างเมืองในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีเป้าหมายที่จะให้คนทุกกลุ่มในพื้นที่เทศบาลตำบลท่าขอนยาง ซึ่งเป็นพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกคนประสบร่วมกัน ผ่านกระบวนการ Design Thinking ประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะ ผ่านกิจกรรมการเดินเมืองและจัดทำแผนที่เดินดิน เพื่อนำไปสู่การออกแบบกระบวนการดำเนินงานเชิงสร้างสรรค์ เช่น ตลาดนัดรีไซเคิล ละครเร่ นิทรรศการภาพถ่ายจากขยะ

โครงการเยาวชนกาฬสินธุ์เท่าทันสื่อรักษ์เมืองฟ้าแดดสงยาง: มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเยาวชนจังหวัดกาฬสินธุ์ให้มีทักษะ MIDL และเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อพัฒนาพื้นที่เมืองฟ้าแดดสงยางให้เป็นเมืองสำหรับทุกคน ทั้งนี้เนื่องจากเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นเมืองเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ในปัจจุบันพื้นที่อำเภอกมลาไสย ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองฟ้าแดดสงยาง มีโครงการการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้า โรงงานขยะ ในพื้นที่ซึ่งส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและเกิดความขัดแย้งในชุมชน ผ่านกิจกรรมเดินเมืองและทำแผนที่เดินดินของเยาวชนรวมทั้งประชุมร่วมกับชุมชนภายใต้โจทย์ “ออกแบบกระบวนการสื่อสารสร้างสรรค์เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองฟ้าแดดสงยาง” จัดเวทีสร้างสรรค์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การสานเสวนาออกแบบชุมชนน่าอยู่ และการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ

โครงการที่นำเสนอนั้นล้วนแล้วได้นำแนวคิดเรื่อง “เมืองทั่วถึง” (inclusive city) และแนวคิดเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL) มาใช้ โดยมีพลังเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ซี่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาในมุมที่เชื่อในศักยภาพของพลเมือง พลังของการมีส่วนร่วม เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น

No Comments

Post A Comment