02 Apr 10 ประเภทของ Fake News
ในภาวะข้อมูลล้นเกิน Fake News อาจปะปนมากับข้อมูลข่าวสารและอาจมาในหลากหลายรูปแบบ
.
.
วันนี้ สสย. จึงพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ 10 ประเภทของ Fake News ที่อาจจะช่วยคัดกรองเพื่อเป็นจุดสังเกตก่อนตัดสินใจเชื่อข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ .. มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
ข่าวพาดหัว ยั่วให้คลิก หรือ คลิกเบท (Clickbait) ข่าวที่ใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดูชวนสงสัยใคร่รู้ หรือดึงดูดใจให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปคลิกเข้าไปอ่านผู้สร้างข่าวอาศัยประโยชน์จากความสงสัยโดยให้ข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ พอชวนให้ผู้อ่านสงสัย แต่ไม่พอจะขจัดความสงสัยนั้น จนต้องคลิกเข้าไปดูเนื้อหานั้น ๆ ทั้งที่
เนื้อข่าวอาจไม่คำนึงถึงคุณภาพหรือความถูกต้องของข้อมูล แต่การพาดหัวทำให้คนหลงกลคลิกเข้าไปเพื่อเรียกยอดวิวในเว็บไซต์นั่นเอง
โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งชักจูงทัศนคติของผู้รับสารต่ออุดมการณ์หรือมุมมองบางอย่างโดยการนำเสนอการให้เหตุผลเพียงข้างเดียว การโฆษณาชวนเชื่อ มักทำซ้ำและกระจายในสื่อหลายชนิดเพื่อหวังผลให้ผู้รับสารเชื่อและคล้อยตามอุดมการณ์ที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อ
ข่าวแฝงการโฆษณา (Sponsored content, Native Advertising) รูปแบบโฆษณาที่ใช้รูปแบบเนื้อหาแนบเนียนกับเนื้อหาปกติในเว็บไซต์นั้น ๆ หรือแนบเนียนไปกับสิ่งแวดล้อมของแพลตฟอร์มของสื่อนั้น ๆ ที่เป็นอยู่ พร้อมทำหน้าที่ให้เนื้อหาที่คนต้องการรับรู้ หรือรับชม โดยไม่ทราบว่าเป็นโฆษณาจนกว่าจะได้อ่าน/ดูจบ ข่าวแฝงการโฆษณานี้ จะทำการแฝง (Tie-in) เรื่องราวของแบรนด์และสินค้าไม่มากเกินไป ทำให้คนอ่านหรือคนเสพสื่อนั้รู้สึกว่าไม่ได้อ่านโฆษณาอยู่ เนื้อหาคอนเทนต์นั้น อาจจะเป็นทั้งการผลิตโดยผู้ลงโฆษณา หรือเป็นการร่วมกันผลิตระหว่างผู้โฆษณาและเจ้าของช่องทาง
ข่าวล้อเลียนและเสียดสี (Satire and Hoax) ข่าวที่ดัดแปลงข้อมูลเพื่อมุ่งสร้างอารมณ์ขันให้กับผู้อ่าน ใช้เนื้อหาที่ตลกขบขันเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ข่าวในโลกแห่งความเป็นจริงผ่านการล้อเลียนหรือเสียดสี
ข่าวที่ผิดพลาด (Error) บางครั้งแม้แต่ข่าวที่เผยแพร่จากสํานักข่าวออนไลน์ที่เชื่อถือได้ ก็อาจมีความผิดพลาดได้เช่นกัน เช่น การเขียนข้อความที่ผิด ชื่อบุคคลหรือรูปภาพผิดจากเนื้อข่าวจริง ๆ ซึ่งทําให้ผู้รับสารเข้าใจไปในทิศทางอื่น หรือไม่เข้าใจในข่าวนั้น
ข่าวเอนเอียงเลือกข้าง (Partisan) เป็นข่าวบิดเบือนข่าวสาร มักจะเลือกข้างโดยนำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์ในทางลบต่อฝ่ายที่ตนเองไม่ชอบ ในขณะที่ฝ่ายที่ตนเองสนับสนุน จะเสนอข่าวชื่นชมเกินจริง โดยเฉพาะด้านการเมือง
ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) เป็นเรื่องเล่าหรือบทความที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคน หรือกลุ่มคนที่นําเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน
ทฤษฎีสมคบคิดอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยข้อมูลที่ไม่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น เครื่องบินพาณิชย์ที่หายไปจากจอเรดาร์อย่างไร้ร่องรอยเกิดจากมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวไป ทฤษฎีสมคบคิดยังอาจมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่น ๆ เพื่อให้ประโยชน์ ให้โทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งใด เช่น เครื่องบินที่หายไปนั้นโดน CIA ยึดไว้เพราะต้องการ 8 ของสำคัญที่อยู่ในเครื่องบิน
วิทยาศาสตร์ลวงโลก (Pseudoscience) คือ ข้อเขียนที่อ้างว่าเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริง แต่จริง ๆ แล้วขัดแย้งหรือเข้ากันไม่ได้กักระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือไม่มีหลักฐานหรือความเป็นไปได้ใด ๆมาสนับสนุน ไม่สามารถทำการตรวจสอบ หรือขาดฐานความเป็นวิทยาศาสตร์ ในแวดวงข่าว วิทยาศาสตร์ลวงโลกจะมาในรูปแบบของบทความทางการแพทย์หรือบทความสุขภาพที่แฝงโฆษณายารักษาหรืออุปกรณ์เพื่อสุขภาพ โดยแอบอ้างว่าได้ผ่านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้ว มีการสร้างภาพผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ
ข่าวที่ให้ข้อมูลผิด ๆ (Misinformation) คือ ข่าวที่ไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน ข้อมูลอาจมีทั้งจริงและเท็จผสมกัน ผู้ส่งสารตั้งใจจะส่งข่าวออกไป แต่อาจจะไม่ได้ตระหนักว่าข่าวนั้นมีข้อมูลที่ผิดพลาดอยู่ เช่น ข่าวลือ
ข่าวหลอกลวง (Bogus) คือ ข่าวปลอมที่เจตนาในการสร้างขึ้นมาและจงใจให้แพร่กระจาย มีวัตถุประสงค์เพื่อหลอกลวง อาจมีเนื้อเรื่อง ภาพ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นเท็จมาประกอบกัน อาจรวมถึงการแอบอ้างเป็นแหล่งข่าวหรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ทุกวิธีการที่จะทําให้ข่าวนั้นดูเป็นข่าวปลอมที่สมบูรณ์มากขึ้น
No Comments