31 Mar บทสัมภาษณ์: ตัวตนทางเพศ กับการสร้าง ‘อัตลักษณ์ในโลกออนไลน์’
บทสัมภาษณ์ โตมร อภิวันทนากร กลุ่มมานีมานะ ผู้ทำงานขับเคลื่อนประเด็นเรื่องเพศและการรู้เท่าทันสื่อ
1. การสร้างอัตลักษณ์ในโลกออนไลน์ คืออะไร?
คือการเลือกสรรเนื้อหาที่จะสื่อสารในโลกออนไลน์ แสดงออกได้ทั้งทางตรง เช่น รูปโปรไฟล์ รูปถ่ายตัวเอง รวมทั้งข้อความที่ตั้งเป็นสเตตัส และผลผลิตชิ้นงานต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นโดยเรา และเผยแพร่โดยเราเอง และทางอ้อม เช่น ข้อความที่ไป comment คนอื่น การแชร์ content ต่าง ๆ ในพื้นที่ออนไลน์ของเรา ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีทางการสื่อสาร (ทั้งที่ออกสู่สาธารณะให้คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ หรือเฉพาะเจาะจงระหว่างเรากับผู้รับสาร) โดยเนื้อหาที่เลือกสรรนี้สามารถสะท้อนถึง ‘ความเป็นตัวเราลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรือหลาย ๆ ลักษณะที่ซ้อนทับกัน’ เป็นลักษณะของตัวเราเองที่ผู้อื่นรับรู้ได้ ซึ่งการสร้างอัตลักษณ์ในโลกออนไลน์อาจจะด้วยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ได้ สรุปคือ ทุกสิ่งอันที่สื่อสารในโลกออนไลน์คือสิ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์ที่เราสร้างขึ้น
2. ในมุมมองของคุณ โลกออนไลน์มีอิทธิพลต่อการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร?
โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ทางสังคมเสมือนที่มีอยู่จริง และมีอิทธิพลทั้งในทางเสริมอำนาจและลดทอนอำนาจของอัตลักษณ์ทางเพศ ความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศที่มีอยู่ ในโลกจริง สามารถปรากฎตัวตนได้อย่างเต็มที่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าใครจะมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นแบบใดก็สามารถสื่อสารตัวตนอย่างที่เป็นออกมาสู่พื้นที่ทางสังคมเสมือนนี้ได้ นั่นแปลว่า ในเบื้องต้นพื้นที่ทางสังคมเสมือนนี้ ไม่ได้กำหนดควบคุมว่าอัตลักษณ์ทางเพศแบบใดแสดงออกได้หรือแบบใดห้ามแสดงออก อันนี้เป็นเสรีภาพพื้นฐานของการสื่อสารที่ทุกคนได้รับ สิ่งตามมาคือ ท่ามกลางเสรีภาพในการสื่อสารอัตลักษณ์นี้ จะมีกติกาการยอมรับและระบบการให้คุณค่าที่ถูกใช้อยู่ในโลกจริงเข้ามาพยายายามจัดระเบียบ ควบคุม ว่าแบบใดเหมาะสม แบบใด ไม่เหมาะสม ในแง่นี้การแสดงออกที่ผลิตซ้ำในรูปแบบของภาพตัวแทนอัตลักษณ์ทางเพศที่ถูกอคติและเหมารวม มักจะไม่ได้รับปฏิกิริยาเชิงบวกนัก หรืออาจได้รับปฏิกิริยาเชิงบวก แต่คุณค่าและศักดิ์ศรีอาจต้อยต่ำกว่า ส่วนนี้โลกออนไลน์ก็จะมีอิทธิพลในการลดทอนอำนาจ แต่หากอัตลักษณ์ทางเพศที่แสดงออกมานั้นได้สื่อสารความเข้าใจที่แตกต่างไปจากเดิม หรือสร้าง ความหมายใหม่ต่ออัตลักษณ์ทางเพศ (ที่หลุดพ้นจากภาพตัวแทนอคติแบบเหมารวม) มักจะได้รับปฎิกิริยา เชิงบวก หรือถูกรับฟัง หรือถูกยอมรับมากขึ้น ส่วนนี้โลกออนไลน์ก็จะเป็นก็จะมีอิทธิพลเสริมอำนาจ
3. การนำเสนอของสื่อในโลกออนไลน์มีผลกับการสร้างอัตลักษณ์ การนำเสนอเรื่องเพศ อย่างไร?
ขึ้นอยู่ว่าเจ้าของเนื้อหานั้นมีฐานความคิดและมุมมองต่อเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์นี้อย่างไร หากเนื้อหาที่นำเสนออัตลักษณ์ทางเพศหรือประเด็นเรื่องเพศนั้นไม่ได้ทำให้ผู้รับรู้ เกิดมุมมองใหม่ ความคิดใหม่ สายตาใหม่ มันก็ยังเป็นการผลิตซ้ำให้ความหมายของคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากคนอื่นในแง่ที่ต่ำกว่า อันนี้ก็ไม่ได้นำไปสู่การสร้างสายตาที่มองเห็นถึงความเป็นมนุษย์ในตัวคนนั้น เพียงแค่มองเห็นว่าประหลาดจากกระแสหลักที่เป็นชายจริงหญิงแท้ หรือความคิดเรื่องเพศ ของกระแสหลักที่ให้คุณค่าว่าดีงาม ภาพตัวแทนอคตินั้น ๆ ที่เราพบในโลกออนไลน์จึงมีผลต่อการสร้างความเข้าใจผิดต่อความเป็นตัวตนทางเพศ เช่น คนมักจะเข้าใจว่าเป็นกระเทยแล้วต้องตลกด้วย ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไป หรือเมื่อเห็นข่าวที่แชร์กันว่าเด็กวัยรุ่นท้องก็มักจะมองว่าวัยรุ่นนั้นไม่รักดี
4. ในเมื่อโลกออนไลน์ที่ทุกคนมีพื้นที่ present ตัวเอง สิ่งที่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงการสร้าง ตัวตนทางเพศคืออะไร?
ตรงไปตรงมากับตัวตนของตัวเอง และเลือกสรรสิ่งที่จะสื่อสารให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเรา โดยให้ความสำคัญต่อผลด้านบวก ถามตัวเองก่อนโพสต์ก่อนส่งว่ามันดีกับภาพลักษณ์เราไหม? คนที่เรารักคนที่เราแคร์ (ไม่ว่าจะครอบครัวหรือคู่รัก) มาพบเข้าแล้วเขาโอเคไหม? หากผ่านไป 10 ปีแล้วมันยังคงอยู่เรายังโอเคไหม? วันหน้าเรามีหลาน มีเหลน มาถาม มาพบเข้า เราโอเคไหม? ที่สำคัญ…มันส่งผลดีต่อคนอื่น ๆ ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศใกล้เคียงกันไหม? เพราะเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการประกอบสร้างทางสังคมวัฒนธรรม และเกี่ยวข้องกับกติกาความสัมพันธ์ ระหว่างผู้คนที่อยู่ร่วมสังคมกัน
5. จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าอัตลักษณ์ในโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ ชีวิตทั้งในแง่บวกและลบ?
ท่องให้ขึ้นใจว่า
1. “สิ่งที่เห็นไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่เป็นและมีอยู่” มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นแล้วอย่าเข้าใจผิด และเชื่ออย่างสนิทใจว่าเป็นอย่างที่เห็น ทุกสิ่งที่เห็นในโลกออนไลน์ผ่านการคิด เลือกสรร มานำเสนอแล้ว
2. “มองให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ในคนอื่น ๆ และเคารพในอัตลักษณ์ที่หลากหลายอย่างที่เราอยากให้เขาเคารพ” ไม่ว่าใครจะมีอัตลักษณ์อย่างไรก็เป็นผู้ที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันกับเรา
3. ถามตัวเองซ้ำก่อนโพสต์ก่อนส่งก่อนคอมเม้นท์ว่า “ดีต่อตัวเองไหม ดีต่อคนอื่นไหม ดีต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมไหม”
No Comments