ทำไมพลเมืองประชาธิปไตยต้องรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล
17145
post-template-default,single,single-post,postid-17145,single-format-standard,bridge-core-2.1.7,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-title-hidden,qode_grid_1300,footer_responsive_adv,qode-child-theme-ver-1.0.0,qode-theme-ver-20.4,qode-theme-bridge,qode_header_in_grid,wpb-js-composer js-comp-ver-6.1,vc_responsive

ทำไมพลเมืองประชาธิปไตยต้องรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล

พัฒนาการของสื่อ สารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิทัล ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว และได้เคลื่อนเข้าสู่ยุคสื่อหลอมรวม (Convergent Media) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การสื่อสาร และการเรียนรู้ของผู้คนในสังคม จากข้อมูลของ Internet World Stats ปี พ.ศ. 2558 พบว่า มีการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกสามพันกว่าล้านคน (Internet World Stats, 2015) เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารแบบดั้งเดิมในโลกแห่งความเป็นจริงไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโลกเสมือนจริง (Virtual World) ส่งผลให้เกิดยุคแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน และเป็นยุคหลังข้อมูลสารสนเทศ (Post-Information Age) ที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมสามารถเข้าถึงสื่อ ได้รับข้อมูลสารสนเทศจำนวนมากผ่านสื่อ และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว สื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล จึงเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกันและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เป็นชุดของสมรรถนะ (Competency) ที่ครอบคลุมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศผ่านสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล การเลือกรับ วิเคราะห์ ประเมิน และนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ในทางสร้างสรรค์ รวมทั้งความสามารถผลิตสื่อเพื่อขับเคลื่อนสังคม ได้ด้วยตนเอง การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล นั้นมีลักษณะที่เชื่อมโยงกันระหว่างสมรรถนะ 3 เรื่อง คือ การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) การรู้เท่าทันสารสนเทศ (Information Literacy) และการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) นอกจากนี้สมรรถนะชุดดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์กับทักษะชุดอื่น ๆ เช่น ทักษะชีวิต ที่ครอบคลุมเรื่องทักษะการเท่าทันตัวเอง (Self Management Skills) ทักษะการคิด (Thinking Skills) และทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Interpersonal and Communication Skills) อีกด้วย

การเข้าถึงสื่อและสารสนเทศ ถือเป็นสิทธิพื้นฐานในฐานะพลเมืองและเป็นสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิที่พลเมืองจะมีข้อมูลมากพอจากแหล่งที่มาที่หลากหลายเพื่อประกอบการคิด ตัดสินใจ และลงมือปฏิบัติการในฐานะพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตยที่พลเมืองอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย การเข้าถึง เข้าใจ เท่าทัน และใช้สื่อ สารสนเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครื่องมือและความสามารถสำคัญที่พลเมืองจะใช้ในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อการติดตาม ตรวจสอบ ขับเคลื่อนต่อสู้ ต่อรองกับอำนาจรัฐ อำนาจทุน และธุรกิจสื่อ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสังคมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันโดยยึดความยุติธรรมทางสังคมเป็นหลักการสำคัญ การจัดการศึกษาโดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้เกิดการบูรณาการและเชื่อมโยงระหว่างชุดของสมรรถนะและทักษะดังกล่าวจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

No Comments

Post A Comment